พายุสงบจี้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป่ามนตร์เรียกขวัญนักท่องเที่ยวแดนมังกร

ผู้ประกอบการท่องเที่ยวประสานเสียง เรียกร้องรัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หวังจีนลดระดับประกาศห้ามนักท่องเที่ยวมาไทย เชื่อมั่นยังฟื้นตลาดคืนกลับมาได้... 

นายสรรเสริญ เงารังษี รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้

เปิดเผยในการประชุมฟื้นฟูการท่องเที่ยวตลาดจีน โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวตลาดจีนเข้าร่วมกว่า 100 ราย ว่า ขณะนี้นักท่องเที่ยวจากตลาดจีนหายไป 70-80% ตั้งแต่รัฐบาลจีนออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ในระดับ 5 ห้าม นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 เม.ย.มาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่จีนจะลดระดับคำแนะนำการเดินทาง โดยพิจารณาจากเหตุการณ์ประเทศไทย กลับมาสงบ รัฐบาลเริ่มทำงานได้ปกติ คนในสังคมดำเนินชีวิตปกติได้ สถานที่ท่องเที่ยวปกติ ไม่มีปัจจัยให้นักท่องเที่ยวกังวล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประเทศไทยมีพร้อมแล้ว เหลือเพียงเรื่องที่รัฐบาลยังไม่ยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งถ้ายกเลิกหรือลดระดับลงเมื่อใด นักท่องเที่ยวจีนคงกลับมา 

"ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ จะเป็นวันจัดงานความสัมพันธ์ ไทย-จีนครบรอบ 35 ปี ที่กรุงปักกิ่ง มีผู้มาร่วมงานจำนวน 600 คน คงทำให้รัฐบาลจีนเห็นความสัมพันธ์ ตรงนี้ ซึ่งผมยังมองในทางบวกว่า ตลาดจีนจะกลับมาได้อย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการอย่าเพิ่งหมดกำลังใจ ขอให้อดทนเพื่ออนาคตที่ดีข้างหน้า" 

พร้อมกันนี้ ททท.ขอให้ผู้ประกอบการไปสอบถามคู่ค้าในประเทศจีนด้วยว่า อยากให้ ททท.เข้าไปช่วยสนับสนุนการจัดทำโฆษณาท่องเที่ยวในส่วนใดบ้าง

ซึ่ง ททท.จะจัดงบประมาณสนับสนุนให้ 50% เพื่อดึงให้ตลาดจีนกลับมาโดยเร็วและจะโฆษณาทันทีเมื่อจีนยกเลิกการห้ามนักท่องเที่ยวมาไทย อีกทั้งในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ ททท.จะจัดงานโรดโชว์ ที่กรุงปักกิ่ง โดยจะเชิญบริษัทนำเที่ยวของจีนมาร่วม จึงขอให้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าร่วม โดย ททท.จะยกเว้นค่าใช้จ่ายในการร่วมงานรายละ 20,000 บาทให้ด้วย 

ด้านนายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้รุนแรงต่อตลาดท่องเที่ยวจีนในรอบ 20 ปี

ไม่เคยเจออะไรรุนแรงอย่างนี้มาก่อน แต่เมื่อการชุมนุมสิ้นสุดลงแล้ว จึงมั่นใจว่าจะฟื้นตลาดจีนกลับมาได้อีกครั้ง และขอให้ผู้ประกอบการทุกคนอย่าได้ท้อแท้ และดีใจที่ ททท.จัดงานการประชุมเพื่อฟื้นฟูตลาดจีนเป็นลำดับแรก  อย่างไรก็ตาม อยากจะร้องเรียกร้องจากรัฐบาลเป็นพิเศษ ในการยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้จีนยกเลิกห้ามนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทย เพราะในการห้ามของจีนนั้นไม่ได้ห้ามแค่ขายทัวร์ แต่ห้ามการโฆษณาด้วย พร้อมกันนี้ ขอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนจีนเป็นประเทศแรก หลังจากที่จบเหตุการณ์ การชุมนุมครั้งนี้ เพราะจีนให้ความสำคัญกับเรื่องความสัมพันธ์มาก 

นายศิษฏิวัชร ชีวรัตนพร นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน กล่าวว่า

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้สร้างความเจ็บปวดมาก หดหู่ ห่อเหี่ยว และหนักมากที่สุดยิ่งกว่าการปิดสนามบิน ถ้ารัฐบาลไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จีนคงไม่ยกเลิกห้ามนักท่องเที่ยวมาไทยแน่นอน ทั้งนี้ จากต้นปีตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา 1.2 ล้านคน แต่จาก 3 เดือนมานี้ต้องเสียหายไปหลายพันล้านบาท และตลอดทั้งปียังไม่รู้ว่าจะนำนักท่องเที่ยวจีนกลับมาได้เท่าใด แต่ก็จะพยายามทำให้ถึง 1 ล้านคน ให้ได้มากกว่าปีก่อนที่มี 800,000-900,000 คน 

ขณะที่ น.ส.วรรณสิริ โมรากุล ผู้อำนวยการกองภาพยนตร์ สำนักพัฒนาการท่องเที่ยว (สพท.) กล่าวว่า

ได้เตรียมแผนในการเยียวยาการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ดังนี้คือ การปรับปรุงระบบภาษี ประกอบด้วย การเร่งการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกองภาพยนตร์ต่างประเทศที่มาถ่ายทำในประเทศไทย ซึ่งควรจะจ่ายคืนทันทีเมื่อเดินทางกลับประเทศ ขณะเดียวกัน จะขอให้ยกเว้นภาษีสำหรับนักแสดง ซึ่งในปัจจุบันเก็บในอัตรา 10% ของรายได้ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมาก เพราะนักแสดงได้รับค่าจ้างจากบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ในต่างประเทศ แต่ประเทศไทยเรียกเก็บภาษี ซึ่งเป็นการไม่ยุติธรรมต่อนักแสดงต่างประเทศ ทั้งนี้ ข้อเสนอการปรับปรุงเรื่องระบบภาษีนี้ ได้นำเสนอไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว คาดว่า ครม.จะพิจารณาภายใน 1 เดือนนี้  

นอกจากนี้ ทางกองภาพยนตร์เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการอื่นๆเพิ่มเติม

ประกอบด้วยการกำหนดเป็นนโยบายให้บริษัทประกันในประเทศไทย ให้บริการสำหรับการประกันภัยในรูปแบบใหม่ๆสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์เช่นประกันภัยสำหรับดารา ประกันภัยรวมสำหรับกองถ่ายทำ ถ้ามีบริษัทประกันในไทยทำจะทำให้มีการเข้ามาถ่ายหนังในไทยมากขึ้นทันที เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือบริษัทประกันภัยในต่างประเทศไม่ให้ประกันภัยสำหรับการเข้ามาถ่ายทำหนังในไทยเพราะไม่มั่นใจต่อความปลอดภัยในประเทศไทย หรือคิดค่ากรมธรรม์แพงมาก เพราะมีความเสี่ยงสูงจากปัญหาทางด้านการเมือง และจะเสนอให้ยกเลิกการจ่ายค่าธรรมเนียมในการถ่ายทำในสถานที่ราชการ เป็นเวลา 3 ปี ในปัจจุบันหน่วยงานราชการเก็บค่าธรรมเนียม เช่น 5,000 บาท สำหรับอุทยานแห่งชาติ 10,000 บาท สำหรับการถ่ายทำในสถานที่ของกรมศิลปากร และบางหน่วยงานคิดเป็นรายชั่วโมง.


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์