พลายเป๋รอดตาย คุณหญิงใจบุญรับรักษา

พลายเป๋เขาอ่างฤาไนมีความหวัง หลังผู้มีใจบุญรับภาระรักษาที่ รพ.สัตว์ลำปาง โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้การรักษาผ่าตัด คาดโอกาสหายมีแน่นอน
 

 เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 

ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายบุญชู สุวรรณโชติ อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 193 หมู่ 13 ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านหมู่บ้านคลองตะเคียน ซึ่งเป็นแนวเขตรอยต่อระหว่างหมู่บ้านกับแนวเขตป่ากันชน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ป่าพื้นราบต่ำรอยต่อ 5 จังหวัดผืนสุดท้ายของประเทศ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ว่า ขณะนี้ช้างพลายป่าขาเป๋ หรือตามที่เจ้าหน้าที่เรียกคือ พลายสามพราน ที่ถูกบ่วงดักสัตว์ป่าของนายพรานรัดข้อเท้าได้รับบาดเจ็บสาหัส บาดแผลเกิดอาการบวมอักเสบมีเนื้องอกที่ข้อเท้า จนข้อเท้ามีขนาดใหญ่ผิดรูป ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน อาการไม่ดีขึ้น
 

 นางบุญชู กล่าวอีกว่า

ขณะนี้เริ่มมีความหวังอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อคุณหญิงวรรณี วิทยะสิรินันท์ อดีตประธานบริษัทธานินทร์ อุตสาหกรรม จำกัด และเจ้าของบริษัทร่วมทุนไทยญี่ปุ่น ธานินทร์ เอลน่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เดินทางเข้ามาดูอาการช้างป่าพลายสามพราน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์   พร้อมด้วย น.สพ.ผู้เชี่ยวชาญ จากมูลนิธิเพื่อนช้าง จ.ลำปาง ได้เข้าประสานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เตรียมขอเคลื่อนย้ายช้างป่าพลายขาเป๋นำไปรักษาอย่างถูกวิธียังสถานพยาบาลสัตว์ใน จ.ลำปาง
 

 ทีมงานของคุณหญิงวรรณี เปิดเผยว่า

จากการเข้าร่วมประชุมที่กรมอุนทยานฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์   โดยมีคณะสัตว์แพทย์ นำโดย น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ พร้อมด้วยอธิบดีกรมอุทยานฯ และผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย มติที่ประชุมเห็นควรให้เคลื่อนย้ายช้างป่าพลายสามพรานไปรักษาตามความเห็นของคณะสัตว์แพทย์ที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งขณะนี้ทีมงานมีการเตรียมแผนการขนย้ายช้างป่าพลายขาเป๋ออกจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนไปรรักษายังสถานพยาบาลสัตว์ จ.ลำปาง โดยมีกำหนดประมาณช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้  โดยคุณหญิงวรรณีจะเป็นผู้รับภาระออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตั้งงบประมาณและรอการฟื้นฟูสุขภาพของช้างพลายที่บาดเจ็บให้แข็งแรงก่อนเคลื่อนย้าย
 

 ด้าน น.สพ.ปรีชา พวงคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลช้าง จ.ลำปาง มูลนิธิเพื่อนช้าง อดีต ผอ.สถาบัน คชบาลแห่งชาติ หนึ่งในคณะทำงานที่เดินทางเข้ามาดูอาการช้างพลายป่าขาเป๋ กล่าวถึงอาการของช้างพลายสามพรานว่า

อาการช้างตัวนี้สุขภาพไม่สมบูรณ์ ทรุดไปค่อนข้างจะผอมมาก มีเนื้องอกขนาดใหญ่ที่ข้อเท้าประมาณ 5-6 กก. แต่ยังสามารถที่จะนำไปผ่าตัดรักษาให้หายได้ แต่ปัญหายังอยู่ที่ว่า หลังการผ่าตัดแล้วขาจะเป๋หรือไม่ เพราะลักษณะบาดแผลกระดูกผิดรูปไปแล้ว ประกอบกับระยะทางการขนย้ายค่อนข้างไกล เกรงว่าช้างจะไปไม่รอด ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และระหว่างการผ่าตัดจะต้องเสียเลือดมาก จึงต้องใช้ความพยายามอย่างสูงสุด เพราะบาดแผลมีขนาดใหญ่และอันตราย
 

 "จากประสบการณ์ที่เคยทำการผ่าตัดเนื้องอกในสัตว์ที่ผ่านมา จะต้องเสียเลือดมาก และอาจมากถึง 20 ลิตร แต่เชื่อว่าจะถ่ายเลือดให้ได้เหมือนสัตว์ทั่วไป ในความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าจะรักษาบาดแผลให้หายได้อย่างแน่นอน" น.สพ.ปรีชา กล่าว
 

 นสพ.ปรีชา กล่าวอีกว่า

 ปัญหาของการรักษาที่ผ่านมาจนทำให้อาการลุกลามบาดแผลบวมใหญ่ไปมากนั้น เป็นเพราะช้างไม่อยู่กับที่ และเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดในครั้งแรก ที่ไม่เอาช้างไปโรงพยาบาล ให้ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน  ส่วนการเคลื่อนย้ายช้างในครั้งนี้เป็นการตัดสินใจของกรมอุทยานฯ เองว่าจะส่งไปรักษายังสถานพยาบาลแห่งใด เพราะที่ จ.ลำปาง มีสถานพยาบาลช้างรวม 2 แห่ง คือ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย และโรงพยาบาลช้าง จ.ลำปาง ที่มีศักยภาพในการรักษาอาการบาดเจ็บที่ค่อนข้างรุนแรงในลักษณะนี้ได้


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์