พระราชทานชื่อ ทิวลิปคิงภูมิพล

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่กระทรวงการต่างประเทศ น.ส.วิมล คิดชอบ อธิบดีกรมสารนิเทศ เปิดเผยว่า

สำนักราชเลขาธิการได้แจ้งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดอกทิวลิป "King Bhumibol" ซึ่งนายกลาส คูไดค์ เกษตรกรชาวดัตช์ เจ้าของบริษัท FA.P. Koeddiik & Zn ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แก่ดอกทิวลิปสายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบ

สำหรับดอกทิวลิป "King Bhumibol" มีสีเหลืองนวลทั้งดอก ความสูงของดอกและก้านรวม 45 ซ.ม.

ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จากดอกทิวลิป Prince Claus ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากดอกทิวลิป สายพันธุ์ Judith Leyster ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ดีมากสายพันธุ์หนึ่ง ในบรรดาสายพันธุ์ดอกทิวลิปของเนเธอร์แลนด์ และได้รับพระราชทานชื่อจาก Prince Claus พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ แห่งเนเธอร์แลนด์

นายคูไดค์มีสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศไทย เนื่องจากบุตรชายเดินทางมาประเทศไทย เพื่อเป็นอาสาสมัครสอนคอมพิวเตอร์ให้แก่คนไทยในชนบททางภาคเหนือ ช่วงปี 2549-2550 และต่อมาได้สมรสกับผู้หญิงไทยด้วย

นายคูไดค์ได้รับแรงบันดาลใจในการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตั้งชื่อดอกทิวลิป "King Bhumibol" มาจากความประทับใจ ในความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ ในช่วงการจัดงานเฉลิมฉลองในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

วันเดียวกัน ศาสตราจารย์อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 21 ส.ค.นี้ เวลา 17.30 น.

นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ซึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ในการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิบัตรฝนหลวง นำคณะ ประกอบด้วย คณะทำงานในโครงการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิบัตร ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และคณะทำงานจัดทำจดหมายเหตุสิทธิบัตรฝนหลวง เข้าเฝ้าฯ ณ วังไกลกังวล เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรฝนหลวง ซึ่งออกโดยสำนักสิทธิบัตรของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและสำนักสิทธิบัตรเขตบริหารพิเศษฮ่องกง รวมจำนวน 11 ประเทศ พร้อมหนังสือจดหมายเหตุสิทธิบัตรฝนหลวง

ทั้งนี้ การทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรครั้งนี้ เป็นผลมาจากสำนักงานสิทธิบัตรยุโรปได้รับ จดทะเบียนสิทธิบัตรฝนหลวงในชื่อ "Weather Modification by Royal Rainmaking Techno logy"

เลขที่ 1491088 พร้อมได้ประกาศโฆษณาการรับจดทะเบียนใน European Patent Bulletin เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2548 โดยคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้แทนพระองค์ เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2549 ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา

สำหรับสิทธิบัตรฝนหลวงได้รับความคุ้ม ครองสิทธิในประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป จำนวน 30 ประเทศ

ได้แก่ แอลเบเนีย สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย ออสเตรีย เบลเยียม บัลแกเรีย สวิตเซอร์แลนด์และลิกเตนสไตน์ ไซปรัส เอสโตเนีย สเปน ฟินแลนด์ กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก ลัตเวีย โมนาโก มาซิโดเนีย เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สวีเดน สโลวีเนีย ตุรกี เยอรมนี เดนมาร์ก ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร โดยมีประเทศ ที่ออกสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการให้จำนวน 10 ประเทศ คือ แอลเบเนีย ไซปรัส กรีช ลิทัวเนีย โมนาโก มาซิโดเนีย โรมาเนีย ตุรกี เดนมาร์ก และฝรั่งเศส สำหรับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้รับอนุญาตให้นำสิทธิในกลุ่มสหภาพยุโรปไปขยายความคุ้มครองได้ และต่อมาสำนักสิทธิบัตรเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้ออกสิทธิบัตรฝนหลวงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะนำสิทธิบัตรของทั้ง 11 ประเทศ พร้อมหนังสือจดหมายเหตุสิทธิบัตรฝนหลวงเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายในครั้งนี้ด้วย

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์