พบในป่าไทย พืชอีก 15 ชนิด พันธุ์ใหม่โลก

การค้นพบพืชพันธุ์ใหม่ในประเทศไทยอีก 15 ชนิดครั้งนี้ เป็นที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ก.ย. โดย ดร.ก่องกานดา ชยามฤต


ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการศึกษาความหลากหลายของพรรณพืชที่พบในประเทศไทย สำนักงานหอพรรณไม้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า จากการสำรวจศึกษาวิจัยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพืชถิ่นเดียว พืชหายากและพืชใกล้จะสูญพันธุ์ทั่วประเทศไทย ระหว่างปี 2546-2550 พบว่ามี 15 ชนิด ที่เป็นรายงานการค้นพบใหม่ของโลก และอีก 30 ชนิดใหม่ของไทย สำหรับพืชชนิดใหม่ของโลกที่วิเคราะห์และมีการรับรองและมีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการด้านพรรณไม้แล้ว ได้แก่ เครือเทพรัตน์ พรรณไม้วงศ์ชบา  ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กาฝากวงกลีบ (Tolypanthus pustulatus Barlow) ที่พบเพียงแห่งเดียวที่ภูวัว จ.หนองคาย

นอกจากนี้ ยังมีต้นชันหอย (Shorea macropterh) เป็นพืชวงศ์ยาง พบแห่งเดียวที่ อ.เบตง จ.ยะลา


และมีต้นโตเต็มที่เหลือเพียง 10 ต้น รวมทั้ง ซ้อหิน Gmelina racemosa (Lour.) Merr. ซึ่งเป็นพืชวงศ์กะเพรา มีประชากรน้อย ส่วนดาดชมพู (Begonia sp.) เป็นพืชล้มลุกที่ยังไม่มีรายงานการค้นพบที่ไหนมาก่อน กำลังตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญวงศ์นี้อยู่ และพบแห่งเดียวที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ และอยู่ในบริเวณเส้นทางที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย

“ขณะนี้สำนักงานหอพรรณไม้เร่งสำรวจและจำแนกพรรณไม้ให้ได้อย่างน้อย 40% ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะสถานภาพปัจจุบันป่าไม้ไทยมีอัตราการถูกทำลายไปมาก ขณะที่ข้อจำกัดด้านบุคลากรทำให้การทำงานเป็น ไปได้ช้า ดังนั้น ตั้งเป้าจะศึกษาและจำแนกพืชวงศ์ใหญ่ ที่มีจำนวนชนิดมากกว่า 100 ชนิดขึ้นไป ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอีก 5 ปีให้ได้อีก 40% เช่น พืชวงศ์เข็ม พืชวงศ์ดาด พืชวงศ์หญ้า เป็นต้น โดยคาดหวังจะได้พืชจำแนกพืชได้ราว 7,600 ชนิดจากพรรณพฤกษชาติทั้งหมดของประเทศไทยที่มีมากกว่า   10,000   ชนิดต่อไป”ดร.ก่องกานดากล่าว
 

ด้านนายกันย์ จำนงค์ภักดี จากกองคุ้มครองพันธุ์ สัตว์ป่าและพืชป่า ตามอนุสัญญาไซเตส กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเผยว่า

จากการสำรวจสถานภาพและการกระจายของชนิดพืชถิ่นเดียว หายากหรือใกล้ สูญพันธุ์ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่ พบว่า กล้วยไม้ถิ่นเดียวในดอยหลวงเชียงดาว คือ รองเท้านารีเมืองกาญจน์อาจสูญพันธุ์ไปแล้ว จากแหล่งตามธรรมชาติบนดอยเชียงดาว เนื่องจากไม่พบอีกเลยในการสำรวจ ทั้งที่เคยมีในรายงานจากการตรวจสอบเอกสาร ขณะที่รองเท้านารีฝาหอยก็อยู่ในสภาพถูกคุกคามอย่างหนักเช่นกัน เนื่องจากพบว่ายังมีการลักลอบเก็บออกมาชนิดที่เรียกว่าล้างบาง เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในเมืองเชียงใหม่และตลาดนัดจตุจักร เนื่องจากมีดอกสวยงาม โดยราคาขายในตลาดเฉลี่ย 500 บาทต่อต้น ขณะที่เก็บจากป่าจะได้ราคาต้นละ 100-200 บาท ทำให้สภาพลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว เฉพาะที่ดอยหลวงเชียงดาว จากที่เคยพบมากขณะนี้เริ่มหายากเต็มทีแล้ว โดยกล้วยไม้ชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ที่ขึ้นตามเขาหินปูน


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์