ฝนดาวตกโปรยปรายคืนวันแม่

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ชวนเฝ้าชม 2 ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ "ฝนดาวตก-ดาวล้อมเดือน" คืนวันแม่แห่งชาติ 12 ส.ค. ...


เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2553 ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เชิญชวนประชาชนชาวไทยทั่วประเทศชม 2 ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ได้แก่ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเปอร์เซอิดส์และปรากฏการณ์ดาวล้อมเดือนในคืนวันที่ 12 ส.ค. ซึ่งตรงกับวันแม่ โดยปรากฏการณ์ฝนดาวตกเปอร์เซอิดส์ หรือฝนดาวตกวันแม่ จะเกิดขึ้นในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 12 ส.ค. จนกระทั่งฟ้าสางของเช้าวันที่ 13 ส.ค. ตามเวลาในประเทศไทย โดยจะสามารถสังเกตได้ทางด้านทิศเหนือ จุดศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกอยู่บริเวณระหว่างกลุ่มดาวค้างคาว (Cassiopeia) และกลุ่มดาวเปอร์เซอิดส์ ในปีนี้คาดว่ามีอัตราการตกสูงถึง 50-100 ดวงต่อชั่วโมง

ฝนดาวตกเปอร์เซอิดส์ เกิดขึ้นจากเศษฝุ่นของดาวหาง 109P/Swift-Tuttle ที่ทิ้งไว้เมื่อ 20 ปีก่อน

และเมื่อโลกเคลื่อนที่เข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นเหล่านั้น จะสังเกตเห็นเศษฝุ่นของดาวหางลุกไหม้ในชั้นบรรยากาศของโลกเป็นแสงสว่างวาบ และถึงแม้ว่าเศษฝุ่นของดาวหาง 109P/Swift-Tuttle นี้ จะถูกทิ้งไว้เป็นเวลา 20 ปีแล้ว แต่เศษฝุ่นของดาวหางเหล่านี้ก็ยังทำให้ชาวโลกได้สัมผัสความสวยงามของฝนดาวตกในวันแม่เป็นประจำทุกปี สำหรับดาวหาง 109P/Swift-Tuttle เคยมาเยือนโลกครั้งล่าสุดเมื่อ ปี 2533 และจะโคจรมาเยือนโลกครั้งต่อไปในปี 2669

ส่วนปรากฏการณ์ดาวล้อมเดือน เป็นการชุมนุมกันของดาวเคราะห์ 4 ดวงล้อมดวงจันทร์ ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวเสาร์ จะเกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำของวันที่ 12 และ 13 ส.ค. หลังดวงอาทิตย์ตก ด้านทิศตะวันตก ซึ่งการเฝ้าชมสองปรากฏการณ์นี้ จะไม่มีแสงจันทร์รบกวน เนื่องจากเป็นช่วงดวงจันทร์ข้างขึ้น 2 ค่ำ อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับสภาพฟ้าฝนด้วย.


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์