ผู้ปกครองเซ็ง! เด็กป.2 มีแท็บเล็ตแต่ไร้เนื้อหา

ผู้ปกครองเซ็ง! เด็กป.2 มีแท็บเล็ตแต่ไร้เนื้อหา

ผู้ปกครองบ่นเซ็ง! แท็บเล็ตไม่มีเนื้อหาสำหรับเด็กป.2 ส่วนการประมูลล็อตใหม่ยังมีข้อกังขาถึงความโปร่งใส

เปิดเทอมได้สัปดาห์เดียว ผู้ปกครองบ่นเซ็ง เหตุปีที่แล้วลูกหลานได้รับแท็บเล็ต ป.1 ตามโครงการคอมพิวเตอร์มือถือสำหรับนักเรียนทุกคน (One Tablet PC Per Child) ของรัฐบาล ทว่าเปิดเทอมนี้ ลูกหลานขึ้นป.2 แล้ว และหิ้วแท็บเล็ตติดตัวตามมาเรียนในชั้น ป.2 แต่พบว่าเนื้อหาที่บรรจุอยู่ในเครื่องแท็บเล็ตยังเป็นข้อมูลสำหรับการเรียนในชั้นป.1!!!

จากการสอบถามข้อมูล พบว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาเนื้อหาเพื่อบรรจุลงเครื่องแท็บเล็ตสำหรับเด็กป.2 คือ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งวงในแจ้งว่าขณะนี้ยังไม่มีการทำเนื้อหาสำหรับเด็กป.2 เพื่อบรรจุลงแท็บเล็ตแต่อย่างใด

ขณะที่การจัดหาแท็บเล็ตในปี 2556 จำนวน 1.75 ล้านเครื่อง ภายใต้งบประมาณราว 5,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพฐ.) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจัดการประมูลก็ถูกตั้งข้อสงสัยจากผู้ประกอบการและประชาชนใน 2 ประเด็น คือ

1. การเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเงื่อนไขการประมูลแท็บเล็ตสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รวมทั้งแท็บเล็ตของครูประจำชั้นทั้งหมด1.75 ล้านเครื่องในเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางซึ่งครั้งแรกมีการกำหนดศูนย์บริการที่ต้องมีมาตรฐาน ISO 9001 แต่การทำประชาพิจารณ์หรือรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ครั้งที่สอง กลับพบว่าคณะกรรมการได้ตัดเรื่องนี้ทิ้งไป

2. การเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเงื่อนไขการประมูลแท็บเล็ตสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1รวมทั้งแท็บเล็ตของครูประจำชั้นทั้งหมด1.75 ล้านเครื่องในเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางซึ่งครั้งแรกระบุว่าเครื่องแท็บเล็ตที่จะเอาเข้าประมูลต้องมี License Google เพื่อสามารถติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่การทำประชาพิจารณ์หรือรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ในครั้งที่สอง กลับพบว่าคณะกรรมการได้ตัดเรื่องนี้ทิ้งไป

ต่อข้อสงสัยดังกล่าว เดลินิวส์ออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง “น.อ.สุรพล นะวะมวัฒน์” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแท็บเล็ตเพื่อการศึกษา ได้คำตอบ ดังนี้

ต่อข้อสงสัยเรื่อง License Google “น.อ.สุรพล” กล่าวว่า การเดินหน้าโครงการแท็บเล็ตครั้งนี้เป็นการ “จัดหา” ไม่ใช่ “จัดซื้อ”

ซึ่งแตกต่างกันโดยการจัดหาครั้งนี้ได้ให้ผู้ผลิตที่มีแท็บเล็ตอยู่แล้วนำเครื่องมาเสนอเพื่อเข้าร่วมการประมูล ดังนั้นการจะมี License Googleหรือไม่...ไม่ใช่สาระสำคัญ! เพราะแท็บเล็ตที่จัดซื้อใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และทางคณะทำงานได้พัฒนาเนื้อหาและแอพพลิเคชั่นเพื่อบรรจุลงแท็บเล็ตเองจึงไม่จำเป็นที่จะต้องให้นักเรียนดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่อยู่ในกูเกิลเพลย์

ต่อข้อสงสัยที่สอง เรื่องการยกเลิกเงื่อนไขที่ว่าศูนย์บริการต้องมีมาตรฐาน ISO 9001 “น.อ.สุรพล” กล่าวว่า

เหตุผลที่ยกเลิกเรื่องเงื่อนไขศูนย์บริการต้องมีมาตรฐาน ISO 9001 เพราะการที่ศูนย์บริการจะยื่นขอมาตรฐาน ISO 9001 ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี แต่เงื่อนไขในการประมูลผู้ชนะจะต้องตั้งศูนย์บริการภายใน 90 วัน

“ขณะนี้มีไม่กี่บริษัทที่มีศูนย์บริการที่ได้มาตรฐาน ISO 9001 ในขณะที่ผู้ผลิตที่จะเข้าร่วมการประมูลส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ และถ้ามาระบุว่าต้องใช้ศูนย์บริการที่มีมาตรฐาน ISO 9001 จะทำให้เกิดการกีดกัน ซึ่งโครงการนี้ต้องการเปิดกว้างให้ผู้ผลิตได้แข่งขัน เพื่อให้ได้แท็บเล็ตที่มีราคาถูกแต่คุณภาพดี ซึ่งคณะกรรมการที่ดำเนินงานเรื่องแท็บเล็ตก็มีมาตรฐานในการตรวจสอบศูนย์บริการอยู่แล้ว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดซื้อแท็บเล็ตป.1 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2555) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กระทรวงไอซีทีเป็นผู้ดำเนินงาน

แต่โครงการจัดหาแท็บเล็ตปีนี้ (พ.ศ.2556) สพฐ.จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนในการจัดหาและจัดการประมูลแท็บเล็ตสำหรับเด็กป.1 และม.1
ทั้งนี้ ตามกำหนดการเมื่อคณะกรรมการจัดหาแท็บเล็ตปิดรับฟังการประชาพิจารณ์แล้ว จะนำความเห็นที่ได้ไปพิจารณา และคาดว่าจะเปิดประมูลปลายเดือน มิ.ย.นี้

เอาเป็นว่า...แท็บเล็ตลอตใหม่ก็อยากให้มีมาตรฐานและการดำเนินงานที่โปร่งใส ขณะที่แท็บเล็ตลอตเก่าก็อยากให้จัดทำเนื้อหาสำหรับเด็กป.2 ด้วย


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์