ผวาน้ำเน่าเจ้าพระยาถูกดูดเข้าคลองประปา

"มั่นใจไม่ใช่เหตุจากธรรมชาติ"


นักวิชาการหวั่นน้ำเสียเจ้าพระยาถูกดูดเข้าคลองประปา ชลประทานคาดอีก 2 วัน น้ำเสียไหลถึงปทุมฯ-นนท์-กทม. สธ.เผยผลตรวจไม่พบยาฆ่าแมลงในน้ำและซากปลา กรมมลพิษ มั่นใจน้ำเจ้าพระยาเน่าจนปลาตาย ไม่ใช่เหตุจากธรรมชาติ พร้อมส่ง 2 ทีมลุยตรวจ 4 โรงงานริมเจ้าพระยา แต่ไม่ให้ทิ้งเหตุเรือน้ำตาลล่ม ผู้ว่าฯ อ่างทอง ประกาศ อ.ป่าโมก เป็นเขตโรคระบาดเกี่ยวกับสัตว์น้ำจืด

หลายหน่วยงานต่างพร้อมใจกันลงไปตรวจหาสาเหตุที่ทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเน่า จนเป็นเหตุให้ปลาในกระชังที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ใน อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ตายจนหมด ล่าสุด ดร.ณัฏฐา หังสพฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อมแม่น้ำ ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ปกติแล้วคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ต้นแม่น้ำที่ จ.นครสวรรค์ จนถึงอ่าวไทยนั้น มีระดับชั้นคุณภาพน้ำอยู่ที่ระดับ 3- 5 โดย จ.อ่างทอง จะอยู่ในระดับที่ 3 หมายความว่า สัตว์น้ำสามารถอาศัยอยู่ได้ และใช้ในการทำเกษตรอย่างไม่มีปัญหา ดังนั้นสาเหตุปลาและสัตว์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตายเป็นจำนวนมากนั้น เชื่อว่าเกิดจากเหตุการณ์ผิดปกติบางอย่าง เป็นอุบัติเหตุจากภายนอก เช่น การปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน หรือการทำให้เกิดมลพิษในแม่น้ำช่วงใดช่วงหนึ่ง ไม่ใช่สาเหตุจากคุณภาพน้ำตามธรรมชาติ

"คุณภาพชั้นน้ำมี 5 ชั้น คือชั้นที่ 1 ดีมากสามารถกินดื่มได้ ส่วนชั้น 2 ใช้ทางทัศนียภาพเช่นน้ำเข้าปากได้เวลาเล่นน้ำหรือว่ายน้ำไม่เป็นอันตราย ส่วนชั้นที่ 3 ใช้ทางเกษตรกรรมได้ และชั้น 4-5 จะใช้ทางคมนาคมเป็นหลัก อย่างไรก็ตามควรรีบหาสาเหตุให้พบ เพื่อให้รู้ว่าความเข้มข้นของสารพิษที่เจือปนเป็นเท่าไร และรีบปล่อยน้ำจากเขื่อนชัยนาทมาทำให้มลพิษในแม่น้ำช่วงนั้นเจือจาง ก่อนที่น้ำเสียจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่อ่างทอง จะไหลผ่านมาถึง ต.สำแล เขตชลประทาน จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นจุดแหล่งน้ำดิบที่จะสูบน้ำเข้าคลองประปาที่คนกรุงเทพฯ ใช้เป็นประจำ " ดร.ณัฏฐา กล่าว

ดร.ณัฏฐา กล่าวว่า ที่ผ่านมาคุณภาพในแม่น้ำเจ้าพระยาดีขึ้นทุกปี เพราะมีการดูแลจัดการรักษาสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นหน่วยงานของรัฐบาล เช่น กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัด กระทรวงสาธารณสุข ต้องช่วยกันเร่งหาสาเหตุของน้ำเน่าเสียครั้งนี้ให้เจอ พร้อมหาต้นเหตุให้พบ หากเป็นมลพิษของเสียที่ปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม ต้องรีบแจ้งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเข้าไปตรวจสอบ พร้อมเร่งหาวิธีทำให้มลพิษเจือจางให้เร็วที่สุด

อีก 2 วันน้ำเสียถึง กทม.


นายบุญสนอง สุชาติพงศ์ โฆษกกรมชลประทาน กล่าวถึงผลการลงพื้นที่ตรวจวัดค่าออกซิเจนน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ จ.ชัยนาท ถึงนนทบุรี พบว่าที่ จ.ชัยนาท มีค่าออกซิเจนในน้ำ 12 มิลลิกรัมต่อลิตร ที่ จ.สิงห์บุรี 4.26 มิลลิกรัมต่อลิตร จ.อ่างทอง บริเวณที่มีปลาตาย ขณะนี้มีค่าออกซิเจน 5 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งถือว่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยน้ำส่วนที่มีออกซิเจนน้อย ได้ไหลลงไปที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ตรวจวัดออกซิเจนที่สถานีวัดน้ำ ซี 35 ได้ค่าเท่ากับ 0.35-1 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งถือว่าน้อย และอาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ส่วนที่ จ.ปทุมธานี วัดได้ 4.49 มิลลิกรัมต่อลิตร จ.นนทบุรี วัดได้ 3.6 มิลลิกรัมต่อลิตร

"แสดงว่าน้ำเสียยังไหลมาไม่ถึง จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี คาดการณ์จากอัตราการไหลของน้ำเชื่อว่า น้ำเสียส่วนนี้จะไหลผ่าน จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี และกรุงเทพฯ ก่อนลงทะเลภายใน 2 วันนี้ ซึ่งช่วงที่น้ำไหลผ่าน จะพยายามให้มีน้ำจากแหล่งอื่นเข้ามาเจือจางให้มากที่สุด และหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยกันเติมออกซิเจน รวมทั้งการประปานครหลวง (กปน.) ที่ต้องใช้น้ำส่งเข้าคลองประปา ส่งเข้าโรงผลิตน้ำ ก็มีระบบป้องกันและบำบัดอย่างดี" นายบุญสนอง กล่าว

มั่นใจน้ำไม่ใช่เหตุจากธรรมชาติ


นายอนุพันธ์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ได้ส่งทีมตรวจสอบคุณภาพน้ำ 2 ทีม ลงพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำในบริเวณเกิดเหตุมาวิเคราะห์หาสาเหตุ โดยทีมแรกจะเข้าไปสำรวจน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมใกล้เคียง คือ โรงงานน้ำตาลมิตรผล โรงงานไทยเรยอน โรงงานอายิโนะทาการะ และโรงงานไทยคาร์บอนแบล็ค ว่าน้ำที่ถูกปล่อยออกมาเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงหรือไม่ ส่วนทีมที่ 2 จะลงพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำเพิ่มเติมตั้งแต่ จ.ปทุมธานี ขึ้นไปถึงบริเวณ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์อีก ครั้งหนึ่ง คาดว่าจะได้ข้อมูล เช่น ค่าบีโอดี ซีโอดี และปริมาณสารอินทรีย์อื่นๆ แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนในตอนนี้ คาดอีก 7 วัน จึงจะรู้ผล

นายอนุพันธ์ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ได้รายงานข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้น้ำเน่าเสียและปลาตาย ให้นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดี คพ.ทราบแล้ว และขอให้อย่าทิ้งประเด็นของเรือน้ำตาลขนาด 650 ตันที่ล่มด้วย เนื่องจากเรือน้ำตาลล่มก่อนเหตุปลาตายเพียง 10 วัน โดยเชื่อว่าน้ำตาลบรรจุมาในกระสอบ เมื่อเรือล่มน้ำตาลอาจค่อยๆ ละลาย จนก่อให้เกิดน้ำเสีย โดยแบคทีเรีย ดึงออกซิเจนไปย่อยสลายน้ำตาลส่วนนี้มาก

"ปกติหากเกิดเหตุที่อาจจะทำให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จะต้องรายงานกลับมายังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ให้จัดเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ แต่เหตุการณ์เรือน้ำตาลล่ม ไม่มีรายงานให้กระทรวงทราบ เพิ่งจะมารู้เมื่อเกิดปัญหาแล้ว และในกรณีนี้ก็เชื่อว่าเรือที่ล่ม ยังไม่ได้กู้ขึ้นมา ซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำเสีย ซึ่งทางหน่วยงานของผมมีหน้าที่ในการตรวจพิสูจน์หาสาเหตุ หากทราบว่าเกิดจากอะไร ผู้ที่ก่อเหตุมีความผิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ซึ่งผู้เสียหาย ได้แก่ กรมเจ้าท่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และกรมประมง สามารถฟ้องร้องได้ ในส่วนของผู้เสียหายเอกชน เช่น เจ้าของกระชังปลา ก็สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้เช่นกัน และผมเชื่อแน่ว่าไม่ได้มีสาเหตุที่เกิดจากธรรมชาติแน่นอน" นายอนุพันธ์ กล่าว

ประกาศให้ อ.ป่าโมก เป็นเขตโรคระบาด


นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผู้ว่าฯ อ่างทอง ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงเรื่องที่เกิดขึ้น โดยที่ประชุมตั้งสาเหตุไว้ 4 ประการ คือ 1.ขณะนี้เป็นฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีน้อย อากาศในน้ำอาจไม่พอ 2.เกิดจากฝนตกชะล้างสารเคมี ที่อยู่ในไร่นาและสวนหรือสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรม 3.เกิดโรคระบาดในน้ำ และ 4.สาเหตุจากเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม พร้อมกับมีมติประกาศให้ อ.ป่าโมก เป็นเขตโรคระบาดเกี่ยวกับสัตว์น้ำจืด

เมื่อเวลา 14.30 น. วันเดียวกัน มีชาวบ้านกว่า 200 คน รวมตัวกันและนำกระสอบใส่ปลาตาย 700 กระสอบ ไปเทพร้อมกับจุดไฟเผาทิ้งที่หน้าทางเข้าบริษัท เคทีเอ็มเอสจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตผงชูรส เนื่องจากชาวบ้านเชื่อว่า โรงงานแห่งนี้ ปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำจนปลาตาย

นายบุญรอด ประมวลสุขหอม กล่าวว่า เหตุปลาตายครั้งนี้ทำให้ขาดทุนไป 1.3 ล้านบาท ยังไม่มีหน่วยงานไหนออกมารับผิดชอบ และยังหาสาเหตุไม่ได้ พยายามที่จะโยงไปกับเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลทรายล่ม ที่ ต.โพสะ อ.เมือง จ.อ่างทอง แต่กับโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีใครออกมาโวยวายและตรวจสอบอย่างจริงจัง ตนไม่ไว้ใจหน่วยงานราชการอีกแล้ว

"ในความคิดของผม เรือบรรทุกน้ำตาลล้มห่างจากจุดที่ปลาตาย 9 กิโลเมตร และเกิดเหตุมาตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ที่สำคัญทำไมระหว่างจุดเรือน้ำตาลล่ม จนมาถึงหมู่บ้านผมกลับไม่มีการเน่าเสียของน้ำ และปลาที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ก็ไม่ตาย หากเป็นน้ำตาลจริง ก็จะต้องส่งผลกระทบถึงกันหมด แต่ที่ผมมั่นใจคือท่อทิ้งน้ำของโรงงานดังกล่าว อยู่ห่างจากที่เกิดเหตุเพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น เลยขึ้นไปน้ำก็ไม่เน่าแล้ว ซึ่งไม่เข้าใจว่า ทำไมทางการถึงอ้างโน่นอ้างนี่ ปัญหาที่เกิดขึ้น ผมทนไม่ไหวจริงๆ ผมเป็นคนตัวเล็ก ไม่มีปัญญาไปสู้รบตบมือกับใคร แต่วันนี้มันถึงที่สุดแล้ว ผมต้องเป็นหนี้เขาตั้งหลายล้านใครจะมาช่วย ขนาดมายืนประท้วงก็ไม่เห็นหัวหน้าส่วนราชการออกมาดูแลเลย ก็ให้รู้ไปว่า ชาวบ้านตาดำๆ จะทำอะไรไม่ได้ นายบุญรอด กล่าว

ผู้บริหารบริษัท เคทีเอ็มเอสจี จำกัด ออกมาปฏิเสธ การปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และเรียกร้องให้ตรวจสอบทุกโรงงานที่อาจจะมีท่อปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทุกโรงงาน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจ และรู้สาเหตุที่แท้จริงของปลาที่ตายเป็นจำนวนมากต่อไป

สธ.เผยตรวจไม่พบยาฆ่าแมลงในปลา


น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสาเหตุปลาในกระชังที่ชาวบ้านใน จ.อ่างทองและ จ.พระนครศรีอยุธยา เลี้ยงไว้ในแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 200 กระชัง ตายโดยไม่ทราบสาเหตุว่า ผลการตรวจวิเคราะห์หายาฆ่าแมลง จากซากปลาในกระชังและปลาธรรมชาติ ใน จ.อ่างทอง และตัวอย่างน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยชุดทดสอบยาฆ่าแมลงของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่พบยาฆ่าแมลงแต่อย่างใด ในกรณีนี้จึงน่าจะเกิดจากปริมาณออกซิเจนในน้ำที่ลดต่ำลง แต่ต้องหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

น.พ.ปราชญ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญขณะนี้คือ เรื่องความปลอดภัยของปลาและสัตว์น้ำที่ตาย ว่าจะนำมาทำอาหารรับประทานได้หรือไม่ ได้สั่งการให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจวิเคราะห์ยาฆ่าแมลงซ้ำทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันอีกครั้ง พร้อมทั้งวิเคราะห์หาโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และสารหนู โดยเร็วที่สุด คาดว่าจะทราบผลภายในสัปดาห์นี้ จึงขอให้เกษตรกรเก็บปลาแช่แข็งไว้ จนกว่าจะทราบผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ เพื่อความมั่นใจ

น.พ.ปราชญ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมสุขภาพจิต ส่งทีมจิตแพทย์และนักจิตวิทยาจากศูนย์สุขภาพจิต ลงพื้นที่ดูแลและให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากว่า 200 ราย ที่ได้รับความสูญเสียในวันนี้ เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้เคยประสบปัญหาอุทกภัยมาก่อน จึงต้องติดตามให้การดูแลอย่างใกล้ชิด

นายชาตรี บุญเฉลียว รองผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า กรณีแม่น้ำเจ้าพระยาเน่าเสียแต่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือเรือน้ำตาลล่ม แต่ กปน.มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจวัดคุณภาพของน้ำดิบอยู่แล้ว อาจต้องมีการเพิ่มออกซิเจน หรือสารที่ทำความสะอาดน้ำ โดย กปน.ต้องลงทุนเพิ่มนั่นเอง เหมือนกรณีที่เกิดโคลนถล่มแล้วน้ำขุ่นก็ต้องเพิ่มสารโซดาไฟ ถ้าน้ำยังไม่สะอาดก็ต้องเพิ่มออกซิเจน อย่างไรก็ตาม ปัญหาแม่น้ำเจ้าพระยาเสียไม่ได้ทำให้น้ำประปาที่ใช้อุปโภคบริโภคมีคุณภาพด้อยลงแต่อย่างใด

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าวสารที่มีคุณภาพ จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์