ผลวิจัยชี้นศ.ฮิตคำสแลง แนะภาษาไทยเข้มข้นขึ้น

ผลวิจัยชี้นศ.ฮิตคำสแลง แนะภาษาไทยเข้มข้นขึ้น

ผลวิจัยอาจารย์ ม.เกษตรฯ ชี้นิสิต-นศ.ร้อยละ 53.66 สร้างคำสแลงใช้เอง ระบุสื่อมีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาไทย แนะผู้บริหารระดับสูงของประเทศเป็นแบบอย่างที่ดี หนุนสอนภาษาไทยเข้มอย่างน้อย 6 หน่วยกิต สถาบันการศึกษา-สถานประกอบการให้สอบระบุต้องผ่านร้อยละ 80

  รศ.ดร.วิไลศักดิ์ กิ่งคำ หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “การฟื้นฟูสมรรถภาพการใช้ภาษาไทย” กล่าวว่า งานวิจัยชุดนี้ได้สุ่มตัวอย่างจากผู้คนหลายสาขาอาชีพ อาทิ ครูอาจารย์ แพทย์ ตำรวจ ทหาร พ่อค้า นิสิต นักศึกษา พระภิกษุสงฆ์ นักการเมือง และอาชีพอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสิ้น 500 คน ผลวิจัยพบว่า 47.20% มีความเห็นว่า สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เป็นสื่อที่มีบทบาทต่อการใช้ภาษาไทยของนิสิตนักศึกษามากที่สุด และ 53.66% ของนิสิต นักศึกษา มีการสร้างคำสแลงมาใช้ ส่วนสาเหตุของการทำให้ภาษาไทยวิบัติมากที่สุดคือ สื่อสารมวลชน อาทิ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ คิดเป็น 43.60% และแนวทางที่ดีที่กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องคือ ผู้บริหารระดับสูงของประเทศ คิดเป็น 62.80%

  รศ.ดร.วิไลศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางแก้ไขข้อบกพร่องการใช้ภาษาไทยนั้น ควรมีการอบรมผู้ทำหน้าที่ทางด้านสื่อสารอย่างจริงจัง และทำอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสถาบันที่มีส่วนเกี่ยวข้องและรับผิดชอบเกี่ยวกับการผลิตบุคคล หรือผลิตครูสอนภาษาไทยและวิชาอื่นๆ ควรจัดอบรมให้มีความชัดเจนด้านภาษาและเชี่ยวชาญในสาขาภาษาไทย

 "ระดับอุดมศึกษานั้นควรกำหนดไว้ในหลักสูตรให้นิสิตเรียนภาษาไทยอย่างน้อย 6 หน่วยกิต เพื่อนิสิตจะได้เข้าใจภาษาไทยและสื่อสารกันได้ถูกต้อง และหน่วยงานที่ต้องการผู้เข้าศึกษาต่อหรือทำงาน ต้องกำหนดให้มีการสอบวิชาภาษาไทย และต้องผ่านอย่างน้อยร้อยละ 80 ควรให้ผู้บริหารระดับสูงของประเทศใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อคนทั่วไป จึงจะสามารถทำให้ทุกคนสนใจศึกษาภาษาไทยอย่างจริงจัง" รศ.ดร.วิไลศักดิ์   กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์