ป่วยเอดส์เฮยาใหม่ สูตรต้านเชื้อดื้อยาราคาถูกวันละดอลล์

"วันละ 1 ดอลลาร์"


ผู้ป่วยเอดส์ดื้อยาต้านเฮ บริษัทมะกันจ่ายยาสูตรใหม่ "ทีโนโฟเวียร์" ราคาถูกสุดๆ วันละ 1 ดอลลาร์ เครือข่ายเอดส์ค้านจดสิทธิบัตร หวั่นผูกขาดตลาด เพิ่มราคาในอนาคต ผู้เชี่ยวชาญเผยกำลังทดลองใช้ยาต้านเป็นวัคซีน

แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ขั้นพื้นฐาน หรือจีพีโอเวียร์ได้ แต่ผู้ป่วยเอดส์ที่กินยาเดิมอย่างต่อเนื่อง จะพบปัญหาการดื้อยา จึงต้องมียาสูตรใหม่ทดแทน ล่าสุดบริษัทผู้ผลิตยาทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสสูตรใหม่ในสหรัฐ ได้สนับสนุนให้กำหนดราคาขายในไทยเพียงวันละ 1 ดอลลาร์ และผ่านการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนยาจากองค์การอาหารและยา (อย.) แล้ว


"ถือเป็นเรื่องน่ายินดี"


เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ได้จัดแถลงข่าวเรื่องยาต้านไวรัสเอดส์ทีโนโฟเวียร์ โดย ศ.น.พ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ กล่าวว่า ขณะนี้ ประเทศไทยได้รับการติดต่อจากบริษัทกีลิแอด (Gilead) สหรัฐอเมริกา ว่าจะมีการเสนอราคาขายยาต้านไวรัสเอดส์ทีโนโฟเวียร์ในราคาเพียงวันละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ 1 เม็ดต่อ 1 คน (ประมาณ 40 บาท) หรือตกเดือนละ 1,200 บาท ขณะที่ที่สหรัฐตกประมาณเดือนละ 1.5 หมื่นบาท ถือเป็นราคาที่ถูกกว่ามาก

ศ.น.พ.ประพันธ์ กล่าวต่อว่า ข้อดีของยาทีโนโฟเวียร์คือ สามารถใช้กับผู้ที่ดื้อยาต้านไวรัสขององค์การเภสัชกรรมได้ และยังมีส่วนในการต้านไวรัสตับอักเสบบี แต่ยาตัวนี้ต้องกินร่วมกับยา 3 ทีซี และเนวิราปิน รวมแล้วตกเดือนละ 2,000 บาท ถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะตอนนี้มีผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาในประเทศไทยแล้วดื้อยาเพิ่มมากขึ้นปีละ 5,000 ราย


"ขายในไทยวันละดอลฯ"


ซึ่งตอนแรกตัวแทนจากไทยพยายามต่อรองให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิตยาตัวนี้จำหน่าย แต่บริษัทปฏิเสธโดยอ้างว่า บริษัทผลิตเป็นจำนวนมาก และเชื่อว่าต้นทุนในการผลิตถูกกว่าให้องค์การเภสัชกรรมผลิตแน่นอน

ทั้งนี้ จากการประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 16 ณ เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา คณะผู้แทนจากประเทศไทย ได้รับแจ้งจากบริษัทกีลิแอด สหรัฐ ผู้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ทีโนโฟเวียร์ว่า ได้กำหนดราคายานี้ให้ขายในประเทศไทยเพียงวันละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่าที่เสนอให้กับประเทศยากจน โดยยาทีโนโฟเวียร์ได้รับอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนยาจาก อย.แล้วเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา


"มีผลข้างเคียงบ้าง แต่นับว่าน้อย"


พ.ญ.อัญชลี อวิหิงสานนท์ แพทย์ประจำ HIV-NAT กล่าวว่า ตอนนี้กลุ่มผู้ใช้ยาต้านเอดส์ร้อยละ 9 มีอาการของไวรัสตับอักเสบบี หากยาต้านไวรัสทีโนโฟเวียร์เข้ามาในไทยก็จะช่วยคนกลุ่มนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการทดลองใช้ยาชนิดนี้แล้ว ในคนไทยกลุ่มแรกประมาณ 400 คน พบว่ายาตัวนี้สะดวกในการกิน มีผลข้างเคียงน้อย มีความเป็นพิษต่อเซลล์น้อย แต่ขณะเดียวกันก็พบผลข้างเคียง คือ ทำให้การทำงานของไตผิดปกติ มีภาวะกระดูกบาง ยังไม่ปลอดภัยในการใช้กับหญิงตั้งครรภ์

พ.ญ.อัญชลี กล่าวด้วยว่า ยาตัวนี้มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้ร่วมกับยา 3 ทีซี หรือเอฟทีซี จะทำให้อาการอักเสบลดลง ปัจจุบันมีคนไทยประมาณ 3 ล้านคน ที่เป็นพาหะเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เริ่มใช้ครั้งแรกในสหรัฐเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และเพิ่งผ่าน อย.จึงต้องใช้เวลาติดตามผลข้างเคียงในระยะยาวต่อไป เนื่องจากในกลุ่มทดลองกินยา มี 1 คน ที่มีอาการไตวาย แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุที่ตัวผู้ติดเชื้อมีความอ่อนแออยู่แล้ว


"ทดลองใช้เพื่อเป็นวัคซีน"


"นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังมีการทดลองใช้ยาทีโนโฟเวียร์ ในกลุ่มผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีด เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอดส์ เนื่องจากเคยมีการให้ทีโนโฟเวียร์กับลิง แล้วฉีดเชื้อเอชไอวีเข้าไปในตัวลิง ปรากฏว่าลิงไม่ติดเชื้อ หากทดลองพบว่ายาชนิดนี้สามารถป้องกันเชื้อเอดส์ได้ก็จะใช้เป็นวัคซีน และช่วยให้การป้องกันการติดเชื้อมีราคาเท่ากับค่าถุงยางอนามัย" พ.ญ.อัญชลี กล่าว

ด้าน นายธนวัฒน์ แสงนาทวิลัย ตัวแทนผู้ป่วยเอดส์จากชมรมเพื่อนอาทร ซึ่งติดเชื้อเอชไอวีมานานกว่า 20 ปี และกินยาต้านไวรัสมานานกว่า 5 ปี กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อแล้วค่าใช้จ่ายวันละ 1 ดอลลาร์ ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่สูง เนื่องจากคนกลุ่มนี้ทำงานไม่ได้ ไม่มีรายได้ และแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการดื้อยาเยอะมาก จึงอยากให้รัฐบาลช่วยนำยาทีโนโฟเวียร์ เข้าในโครงการ 30 บาท ซึ่งจะช่วยผู้ติดเชื้อให้สามารถทำงานได้ หากเป็นไปได้องค์การเภสัชกรรมก็ควรจะขอสิทธิบัตรมาผลิตเอง


"ทดลองในโครงการ 100 คน"


เช่นเดียวกับตัวแทนผู้ติดเชื้อรายอื่นที่หวั่นเกรงว่า หากมีการนำยาตัวนี้เข้ามาในประเทศไทยแล้ว เมื่อมีผู้ติดเชื้อใช้ยาจำนวนมาก บริษัทยาจะกำหนดราคาใหม่ ซึ่งผู้ติดเชื้อจะไม่มีทางเลือก

ขณะที่ นายเสรี จินตกานนท์ ประธานเครือข่ายผู้ใช้ยาแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ช่วงที่ผ่านมาบริษัทเจ้าของยาทีโนโฟเวียร์พยายามกดดันผู้ใช้ยาเสพติด ให้เข้ารับการทดลองยาตัวนี้ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะได้ค่าตอบแทนสัปดาห์ละ 300 กว่าบาท ถือว่าขัดต่อจริยธรรมต่องานวิจัย มีการใช้เงินชักจูง โดยกลุ่มคนที่อยู่ในโครงการทดลองมีประมาณ 100 คน ขณะนี้เครือข่ายได้ประท้วงยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว แม้เราจะไม่ต้องการให้หยุดทดลอง แต่ต้องการให้ทบทวนวิธีการ ไม่ควรกดดันผู้ติดยาเสพติด


"ไม่เห็นด้วยเรื่องจดสิทธิบัตร"


"เมื่อผู้ติดยาเสพติดไปรับยาเมทาโดน เพื่อช่วยในการเลิกยาของ กทม.เจ้าหน้าที่จะต่อรองให้เข้าโครงการทดลองก่อน จึงจะได้รับยาเมทาโดน ถือเป็นการบังคับทางอ้อม อย่างไรก็ตาม ผมเห็นด้วยที่จะนำยาทีโนโฟเวียร์เข้ามาขายในราคาถูก เพราะถือเป็นทางเลือกของผู้ดื้อยาต้านไวรัส แต่รัฐบาลต้องต่อรองเงื่อนไข ไม่ควรให้บริษัทกำหนดยาได้ตามใจ และไม่เห็นด้วยกับการจดสิทธิบัตร เพราะจะทำให้มีการผูกขาดเกิดขึ้น" นายเสรี กล่าว


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์