ปลูกผักใน กระถาง ลดรายจ่ายในครอบครัว

"ยายหล่อ” หรือ คุณยายหล่อจิตร หามนตรี วัย 82 ปี เป็นคนเมืองรายหนึ่งที่หันมาสนใจปลูกพืชผักประจำบ้าน (ในกระถาง) ไว้รับประทานเองภายในครัวเรือน

ความชราไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปลูกผักของเธอ แต่กลับช่วยให้เธอแข็งแรงขึ้นจากการได้ใช้เวลาว่างหยิบจับส้อมพรวนดิน บัวรดน้ำและดูแลต้นผักในกระถางเป็นประจำทุกวัน จนพืชผักผลิดอกออกผลให้บุตรหลานได้เก็บเกี่ยวผลผลิตบริโภค สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้ท่ามกลางยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองแบบนี้
 
บ้านของยายหล่อเป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ตั้งอยู่เลขที่ 48/17 หมู่ 5 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี มีเนื้อที่ 50 ตารางวา

บริเวณหน้าบ้านมีพื้นที่ว่างประมาณ 20 ตารางเมตร ซึ่งเมื่อก่อนใช้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับตกแต่งบ้าน ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 มานี้ ยายหล่อมองว่าสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ประกอบกับราคาสินค้าขยับตัวสูงขึ้น พืชผักที่บริโภคประจำก็มีราคาแพง  เธอจึงให้ลูกหลานช่วยกันรื้อไม้ประดับที่ปลูกอยู่ในกระถางเดิมออก แล้วนำพืชผักประจำบ้านมาปลูกแทนโดยวาง กระถางบนพื้นซีเมนต์ที่ว่าง 7-8 ตารางเมตร
 
ยายหล่อเล่าให้ฟังว่า ยายเลือกปลูกพืชผักที่คนในบ้านชอบรับประทานและเป็นผักที่ใช้ประกอบอาหารบ่อย ๆ

มี มะเขือเปราะ 5 กระถาง กะเพรา 4 กระถาง โหระพา 5 กระถาง และ พริก อีก 3-4 ต้น ปลูกแบบไม่ใช้สารเคมีเลย เพียงตั้งกระถางผักให้ได้รับแสงแดดเพียงพอ ดูแลง่าย ไม่มีปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชรบกวน รดน้ำทุกวัน และยังมีการใช้น้ำหมักชีวภาพด้วย ช่วยให้ต้นผักเติบโตดี
 
“ขณะนี้ทุกต้นให้ผลผลิตแล้ว ลูกหลานสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตรับประทานได้ทุกวัน ไม่ต้องกังวลเรื่องสารตกค้างเพราะยายปลูกเอง ไม่ต้องเสียเวลาไปซื้อที่ตลาดราคาแพง ๆ ช่วยครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 100-200 บาท/เดือน ถ้ายังแข็งแรงแบบนี้ยายจะปลูกเพิ่มอีก” ยายหล่อบอกพร้อมหัวเราะเบา ๆ


นางสาวนัยนา ยลจอหอ หรือ “คุณหน่อย” อาชีพแม่บ้านวัย 47 ปี

อยู่บ้านเลขที่ 1058/2 ซอยวัดแคใต้ ถนนนครชัยศรี แขวงนครชัยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่สนใจปลูกพืชผักในภาชนะหรือวัสดุเหลือใช้ ปัจจุบันเธอเป็นคณะกรรมการชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำที่ช่วยสานต่อโครงการเกษตรต่อเนื่องของสำนักงานเกษตรกรุงเทพมหานคร โดยส่งเสริมให้คนในชุมชนนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เช่น กะละมังเก่า ปี๊บเก่า กระถาง และกระป๋องน้ำ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปลูกพืชผักประจำบ้านไว้บริโภคเองในครัวเรือน เพื่อช่วยลดรายจ่ายของชาวบ้านในชุมชน
 
คุณหน่อยบอกว่า เริ่มปลูกพืชผักไว้รับประทานเองในครอบครัวตั้งแต่ปี 2550 โดยปลูกในกะละมังเก่า (ขนาดใหญ่) จำนวน 3-4 ใบ วางเรียงรายบนแนวรั้วบ้าน
ใช้เมล็ดพันธุ์ผัก 3-5 ชนิด ได้แก่ ผักกาดขาว กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน กวางตุ้งไต้หวัน และคะน้า สลับปลูกหมุนเวียนกันไป ซึ่งใช้เวลาไม่นานก็ให้ผลผลิตได้เช่นเดียวกับการปลูกลงแปลง สำหรับข้อดีของการปลูกพืชผักในวัสดุ คือ จำนวนต้นผักไม่มาก ประกอบกับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี และมีความปลอดภัยด้วย
 
ปัจจุบันคนในชุมชนวัดแคใต้ได้หันมาสนใจปลูกพืชผักเพื่อบริโภคเองมากขึ้น มีผักหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละครอบครัว

ส่วนใหญ่ปลูกในภาชนะมีทั้งพริก มะเขือเปราะ คะน้า โหระพา กะเพรา มะกรูด ฯลฯ ซึ่งทางชุมชนฯได้จัดทำ จุดสาธิตการปลูกพืชผักในภาชนะ สำหรับผู้ที่มีพื้นที่จำกัด และ จุดสาธิตการปลูกพืชผักในแปลง รวม 4 จุด คือ ที่ศูนย์ผู้สูงอายุ ศูนย์เด็กเล็ก ริมแนวเขื่อนชายคลองแสนแสบ และบริเวณหน้าร้านเสริมสวยในชุมชน เพื่อเป็นแปลงตัวอย่างให้ชาวบ้านได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปเป็นต้นแบบ และประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองได้
 
“ยุคสินค้าราคาแพง หันมาปลูกพืชผักไว้บริโภคเองภายในบ้าน สามารถช่วยครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งชุมชนฯต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการปลูกผัก พร้อมสนับสนุนภาชนะปลูก ดินปลูก และกล้าพันธุ์ผักด้วย หากได้รับการส่งเสริมคาดว่าในชุมชนเมืองจะมีการปลูกผักรับประทานเองอย่างแพร่หลายมากขึ้น”
คุณหน่อยกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนในเขต  กรุงเทพฯและปริมณฑลที่สนใจจะปลูกพืชผักไว้บริโภคในครอบครัว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “โครงการปลูกผักสามัญประจำบ้านเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือนของชุมชนเมือง” สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โทรศัพท์ 0-2579-6106 หรือ
www.doae.go.th

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์