ปลาบึก ยักษ์ใหญ่แห่งลุ่มน้ำโขง

ปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก...

ปลาบึก...เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก... พบที่เดียวในแม่น้ำโขง ปัจจุบัน องค์การนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ เช่น World Wildlife Fund และ Dawins Initiatives ได้จัดให้อยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง...!!!

...ทั้งสององค์กรที่กล่าวถึงนี้ ได้ให้ ความสนใจหาวิธีการ อนุรักษ์ยักษ์ใหญ่ แห่งลุ่มน้ำโขง แต่ยังขาดข้อมูลสำคัญอีกหลายประการ เช่น ประชากรปลาบึกมีทั้งหมดกี่เผ่าพันธุ์

จากอดีตที่มีความเชื่อว่าปลาบึกวางไข่ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และตัวอ่อนล่องลอยไปเลี้ยงตัวในทะเลสาบของประเทศเขมร จริงหรือ...

เครื่องหมายพันธุกรรม ในตัวอย่างปลาบึก

ศ.ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ น.ส.เกตนภัส ศรีไพโรจน์ ดร.วงษ์ปฐม กมลรัตน์, ดร. นฤพ สุขุมาสวิน, ผศ. ดร.สุภาวดี พุ่มพวง และ น.ส.ศรีจรรยา สุขมโนมนต์ ทำการศึกษาเครื่องหมายพันธุกรรม เพื่อการจัดการพ่อแม่พันธุ์ปลาบึก

ซึ่งเริ่มดำเนินการวิเคราะห์เครื่องหมายพันธุกรรมไมโครแชเทลไลท์ จำนวน 7 ตำแหน่ง ในตัวอย่างปลาบึกที่เป็นลูกของพ่อแม่ที่จับจากธรรมชาติ ซึ่งใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ ในสถานี 7 แห่ง เป็นจำนวน 129 ตัว และได้ติดเครื่องหมายไมโครชิพแก่ปลาที่เก็บตัวอย่างทุกตัว จากนั้นคำนวณค่าความหลาก หลายทางพันธุกรรม

ลดความเสี่ยงการเกิดผสมเลือดชิด....

ให้มีการจับคู่ผสมพันธุ์...ด้วยวัตถุประสงค์ ในการป้องกันการผสมเลือดชิด การวิจัยครั้งนี้ใช้ค่าความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม (rxy) เป็นตัวบ่งชี้ โดยคู่ผสมหรือประชากรที่มีค่า (rxy) สูงแสดงว่ามีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใกล้ชิดกัน หากผสมพันธุ์กันอาจเกิดปัญหาของการผสมเลือดชิดได้

...จึงได้พบว่าประชากรปลาในโรงเพาะฟักแต่ละแห่ง มีค่าความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมสูงกว่าค่ารวมจากทุกประชากร แสดงว่า ควรมีการผสมพันธุ์ระหว่างพ่อแม่ปลาบึกจากต่างฟาร์ม ...พร้อมกับแนะนำผู้เลี้ยงว่า...ควรเลือกใช้คู่ผสมที่มีค่าความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม เท่ากับหรือน้อยกว่า 0.07 จากการคำนวณพบว่า ถ้านำลูกปลาบึกจากการผสมคู่ที่มีค่าความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมต่ำกว่า 0.07 จำนวนเพียง 20 คู่ มาเป็นพ่อแม่พันธุ์ จะสามารถรักษาระดับความหลากหลายทางพันธุกรรมไว้ได้เกิน 90% และไม่เกิดการผสมเลือดชิด


ผลการศึกษาในภาพรวมก็พบว่า

ปลาบึกที่มีอยู่ในโรงเพาะฟักมีความหลากหลายในระดับสูงเมื่อเทียบกับปลาในธรรมชาติ หากนำมาปล่อยปลาคืนสู่ธรรมชาติในกรณีที่จำเป็น ปลาบึกก็จะพัฒนาเป็นสายพันธุ์เพื่อการเพาะเลี้ยงที่ดี

จากผลการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของปลาบึกในธรรมชาติ ทำให้ได้ข้อมูลที่ยังไม่เคยมีผู้ใดทราบมาก่อนว่า ปลาบึกไทย กับปลาบึกที่พบในทะเลสาบเขมร เป็นปลาคนละกลุ่มประชากร...! และเป็นการยืนยันได้ว่า ลูกปลาบึกจากอำเภอเชียงของ... ไม่ได้ล่องลอยไปเลี้ยงตัวในทะเลสาบของประเทศเขมร

...อย่าว่าแต่คนเลย ปลามันก็ยังแบ่งแยกเขตและพื้นที่...!!!




แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์