ปตท.รวย โขกค่าก๊าซผู้ใช้ไฟ

ปตท.รวย โขกค่าก๊าซผู้ใช้ไฟ

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 1 เมษายน 2549 10:30 น.

เผยต้นทุนค่าไฟฟ้าแพง ที่แท้ต้องประเคนจ่ายให้ ปตท. ที่ผูกขาดกินหัวคิดค่าท่อก๊าซมากกว่า 16% แถมบวกราคาเนื้อก๊าซเพิ่มอีก ขณะที่เงื่อนไขรัฐบีบให้ต้องซื้อน้ำมันเตาจาก ปตท. 80% ทั้งที่คิดราคาแพงกว่าผู้ค้าน้ำมันรายอื่น

กำไรปี 2548 ของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กว่า 8.5 หมื่นล้านบาท มากกว่าครึ่งเป็นกำไรที่ได้มาจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งลูกค้ารายใหญ่ได้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เนื่องจากโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของ กฟผ.เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก และยังมีโรงไฟฟ้าดีเซลอีกส่วนหนึ่ง

แหล่งเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ล้วนแล้วแต่มีข้อผูกพันธ์กับ ปตท.แทบทั้งสิ้น เมื่อคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้ กฟผ.ต้องซื้อน้ำมันเตาจากปตท. ไม่ต่ำกว่า 80% และอีก 20% เปิดให้ซื้อด้วยวิธีการประมูล ทั้งนี้กฟผ.ต้องใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าปีละประมาณ 2.2 พันล้านลิตร

"ราคาน้ำมันเตาที่ได้จากวิธีการประมูลจะถูกกว่าราคาขายของ ปตท. เมื่อรัฐบาลกำหนดสัดส่วนการซื้อน้ำมันมาอย่างนี้ ทำให้กฟผ.ได้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ค่อนข้างแพง เพราะต้องผูกพันธ์ซื้อกับปตท.ถึง 80%"อดีตบอร์ดกฟผ.กล่าว

ที่ผ่านมา ปตท.เคยเข้ามาเสนอราคาขายน้ำมันให้กับ กฟผ.ในส่วนของ 20% นี้ด้วย และบางครั้งก็ชนะการประมูล แต่ราคาที่เสนอขายของ ปตท.ในสัดส่วน 80%กลับเป็นอีกราคาหนึ่ง ซึ่งสูงกว่าราคาที่เสนอประมูล

เมื่อข้อผูกพันที่รัฐบาลกำหนดมาอย่างนี้ ต้นทุนในการผลิตจึงค่อนข้างสูงกว่าความเป็นจริง เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ที่ราคาก๊าซที่ซื้อจากปตท.ในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดเพียงรายเดียวนั้นคิดราคาค่อนข้างสูง ทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าสูงเช่นกัน ดังนั้นค่าไฟฟ้าที่คิดจากประชาชนและผู้ใช้ไฟฟ้าจึงสูงขึ้นทุกขณะ

ปัญหาอยู่ที่เรื่องของท่อก๊าซของปตท. ที่เขาคิดค่าใช้และบริการอยู่ที่ 16% ขึ้นไป เช่น การคิดราคาค่าบริการส่งก๊าซคิดที่ 190 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู ขณะที่สายส่งไฟฟ้าเราคิดอยู่ที่ 4% นอกจากนี้ราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติที่ปตท.คิดนั้นเป็นการบวกจากราคาที่ปากหลุมอีกไม่ต่ำกว่า 1% ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติที่ยูโนแคลคิดกับปตท.นั้นจะผันแปรกับราคาน้ำมันในตลาดโลกและภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(FT) จึงปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เคยมีการเสนอกันว่าให้ปตท.นำเอากำไรสัก 2 หมื่นล้านบาทมาช่วยชดเชยภาระค่าไฟฟ้า แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่ได้รับการตอบสนอง

นี่คือปัญหาที่คาราคาซังมาอย่างยาวนาน กฟผ.เคยเสนอต่อรัฐบาลว่าต้องการทำในลักษณะ Business Unit แต่รัฐบาลก็ไม่อนุญาต ดังนั้น กฟผ.จึงไม่สามารถที่จะทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลงได้ และทุกวันนี้ที่ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นก็หมายถึงผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายเงินมากขึ้น และช่วยให้ ปตท. รวยขึ้นมากกว่าเดิมนั้นเอง

เรื่องของค่าหัวคิวท่อแก๊สนั้น เดิมทีมีข้อตกลงว่าจะต้องแยกออกมาจากปตท.หลังจากกระจายหุ้นแล้ว 1 ปี แต่ปัจจุบันท่อก๊าซยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของปตท. และเป็นแหล่งรายได้หลักให้กับปตท.มาจนถึงทุกวันนี้

หากมีการแยกกิจการท่อก๊าซ ซึ่งถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐ เช่นเดียวกับสายส่งไฟฟ้า ถ้ารัฐเป็นเจ้าของกิจการ รัฐก็สามารถที่จะคิดค่าบริการที่ถูกลงได้ หรือเลือกคิดค่าบริการที่สนับสนุนกิจการของไฟฟ้าได้ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลง สร้างภาระให้กับประชาชนน้อยลง

อดีตบอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตกล่าวต่อไปว่า มีวิธีการที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลงได้ หากแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่และเปิดโอกาสให้ กฟผ.หาต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่ต่ำลง แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างล้วนมีเงื่อนไขแทบทั้งสิ้น และเมื่อศาลปกครองมีคำพิพากษาในเรื่องการแปรรูป กฟผ.มิชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น รัฐบาลจะกลับเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ของกฟผ.อีกหรือไม่ ถ้าค้ำประกันก็น่าจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของกฟผ.ลดลงได้อีกทางหนึ่ง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์