บ.ปูนซิเมนต์ไทย โดนลูบคม ใบหุ้นปลอม

พฤติกรรมต้มตุ๋นเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นที่ทำเอาทายาทเศรษฐีแทบช็อก หลังเอาใบหุ้นไปขอขึ้นเงินแล้วพบว่าเป็นใบหุ้นปลอมครั้งนี้ ได้รับการเปิดเผยเมื่อวันที่ 20 ก.พ.
 
ผู้สื่อข่าวรายงานจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯถึงการปลอมแปลงใบหุ้นสามัญของบริษัทว่า ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ได้มีมติให้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ  กรณีมีผู้ปลอมแปลงใบหุ้นสามัญของบริษัท โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2552 บริษัทได้รับแจ้งจากบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ว่ามีการปลอมแปลงใบหุ้นสามัญของบริษัทจำนวน  2  ใบ รวมจำนวนหุ้นทั้งสิ้น  672,000  หุ้น  คิดเป็นมูลค่าหุ้นในขณะนี้ประมาณ 67 ล้านบาท และจากการตรวจสอบภายในบริษัทพบว่าแบบฟอร์มใบหุ้นสามัญได้สูญหายไปจำนวน 34 ใบ เลขที่ 0025001- 0025034 ซึ่งบริษัทได้แจ้งความและยกเลิกใบหุ้นดังกล่าวแล้ว โดยได้ตั้งข้อสงสัยว่าพนักงานคนหนึ่งของบริษัทเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าว และผู้ต้องสงสัยได้หลบหนีไปในวันเดียวกัน บริษัทจึงได้แจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยและศาลอาญาได้ออกหมายจับแล้วเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


นอกจากนี้  บริษัทยังได้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า

ผู้ต้องสงสัยได้จัดทำใบหุ้นสามัญปลอมขึ้นมาและนำไปมอบให้แก่เจ้าของหุ้นแทนใบหุ้นฉบับจริง ส่วนใบหุ้นฉบับจริงนั้นคาดว่าผู้ต้องสงสัยได้นำไปขายแล้ว บริษัทถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ผู้บริหารระดับสูงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้เร่งสืบหาข้อเท็จจริงนับตั้งแต่วันที่ทราบเหตุ และสามารถรวบรวมข้อมูลได้ ในเบื้องต้นจึงได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ  ทั้งนี้ บริษัทจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดและผู้เกี่ยวข้องทุกคน ทั้งทางอาญาและทางแพ่งจนถึงที่สุดโดยไม่มีข้อยกเว้น


สำหรับมูลเหตุที่ทำให้เรื่องดังกล่าวแดงขึ้นมานั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
 
เกิดขึ้นหลังจากเจ้าของหุ้นเดิมซึ่งเป็น  “คุณหญิง”  ที่เป็นผู้ถือหุ้นในยุคบุกเบิกของการก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย  และได้รับจัดสรรหุ้นอุปการคุณ ได้มีการโอนหุ้นไปให้ทายาท แต่ต่อมาทายาทคนดังกล่าวได้เสียชีวิตลงเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา และผู้จัดการมรดกได้นำใบหุ้นมาขึ้นทะเบียนกับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์เพื่อนำหุ้นจำนวนดังกล่าวจัดสรรให้กับทายาทของผู้เสียชีวิต แต่จากการตรวจสอบใบหุ้นของศูนย์รับฝากพบว่าเป็นใบหุ้นปลอม จึงได้มีการประสานตรวจสอบกลับไปยังบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จนกระทั่งพบว่าพนักงานบริษัทซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยได้มีการยักยอกใบหุ้นจริงออกไปก่อนหน้านี้ และจัดทำใบหุ้นปลอมให้ผู้ถือหุ้นไว้ โดยอาศัยจากความไว้เนื้อเชื่อใจ เนื่องจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเป็นบริษัทเก่าแก่ ที่มีผู้ถือหุ้นลักษณะพิเศษคือ เป็นผู้ถือหุ้นเก่าแก่ยุคบุกเบิกที่ผูกปิ่นโตกันมานาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบรรดาตระกูลเศรษฐีเก่าแก่ของเมืองไทย ที่มักจะถือหุ้นมาอย่างยาวนานตั้งแต่เข้าตลาดหุ้นในช่วงต้นๆ เมื่อปี 2518 และถือไว้ระยะยาวเป็นมรดกตกทอดให้แก่ลูกหลาน โดยในระหว่างนั้นก็จะได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลที่บริษัทจ่ายให้ทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 15 บาท มาอย่างต่อเนื่อง 


อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ถือหุ้นยุคบุกเบิกเหล่านี้มีปัญหาข้อสงสัย ก็มักจะอาศัยความเคยชิน หรือเมื่อต้องทำธุรกรรมอะไรกับบริษัทก็มักจะดำเนินการติดต่อไปยังบริษัทโดยตรง ซึ่งทางบริษัทเองมีการจัดพนักงานไว้ คอยดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ถือหุ้นเหล่านี้ จนก่อให้เกิดความเชื่อถือและไว้เนื้อเชื่อใจกัน จนเป็นโอกาสให้พนักงานผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าวกระทำการฉ้อฉล โดยเจ้าของหุ้นอาจมอบอำนาจให้พนักงานบริษัทคนดังกล่าวดำเนินการติดต่อกับทางศูนย์รับฝาก จนกระทั่งมีการยักยอกนำเอาใบหุ้นจริงออกไป และจัดทำใบหุ้นปลอมส่งให้ผู้ถือหุ้นถือไว้แทน โดยที่เจ้าของตัวจริงไม่รู้ตัวมาก่อนว่าที่ผ่านมาได้นอนกอดใบหุ้นปลอมเอาไว้


นอกจากนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย และศูนย์รับฝากนั้น ยังพบว่า

ใบหุ้นฉบับ จริงนั้นได้ถูกนำหุ้นออกไปขายตั้งแต่ช่วงปี 2547-2548 แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ระดับราคาหุ้นปูนซิเมนต์ไทยทะยานขึ้นไปสูงสุดเกือบ 300 บาทต่อหุ้น แต่ผู้ต้องสงสัยได้ดำเนินการที่แยบยลด้วยการปกปิด และยังคงดำเนินการจ่ายเงิน ปันผลให้กับผู้ถือหุ้นยุคบุกเบิกที่ถือใบหุ้นปลอมนี้ไว้ โดยที่เจ้าตัวเองก็ไม่ได้ระแคะระคายมาก่อน เพราะเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวยังคงส่งเงินปันผลให้เจ้าของหุ้นตัวจริง อย่างต่อเนื่องทุกปี 


สำหรับราคาหุ้นปูนซิเมนต์ที่ถูกขายออกมาในช่วงปี 2547 และ 2548 นั้น พบว่า

ช่วงนั้นราคาหุ้นอยู่ ในระดับที่สูงมาก หากมีการขายหุ้นออกมาในช่วงดังกล่าว เฉพาะหุ้น 2 ใบ รวม 672,000 หุ้นดังกล่าวจะได้รับเงินสูงถึง 150-180 ล้านบาท เพราะราคาหุ้นปูนซิเมนต์ในปี 2547 เฉลี่ยอยู่ที่ 230 บาท และขึ้นไปสูงสุดที่ 264 บาท หากขายที่ราคาเฉลี่ยจะได้เงินประมาณ 160 ล้านบาท  


ด้านนางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กรบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวยอมรับว่า
 
บริษัทได้รับทราบเรื่องนี้เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยได้รับแจ้งจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ว่ามีการปลอมแปลงใบหุ้นสามัญของบริษัท จำนวน 2 ใบ ซึ่งใน 2 ใบนี้มีจำนวนหุ้นรวมกัน 672,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่า ณ ปัจจุบัน 67 ล้านบาท บริษัทจึงได้ตรวจสอบรายละเอียด และพบว่าแบบฟอร์มใบหุ้นสามัญหายไป 34 ใบ คือเลขที่ 0025001-0025034 จึงได้ไปแจ้งความเพื่อยกเลิกใบหุ้นที่หายไปดังกล่าว และผลจากการตรวจ สอบยังพบว่ามีพนักงาน 1 คน เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และได้หายตัวไปแล้ว บริษัทจึงได้ไปแจ้งความดำเนิน คดีรายนี้ โดยศาลอาญาได้ออกหมายจับ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา


นางวีนัสกล่าวว่า
 
สำหรับรายละเอียดทั้งหมด บริษัทกำลังค้นข้อมูล เบื้องต้นทราบว่าผู้ต้องสงสัยทำปลอมขึ้นมา และนำไปมอบให้เจ้าของหุ้นแทนใบจริง ส่วนใบจริงได้ถูกขายไปแล้ว สำหรับใบหุ้นที่เหลือทั้งหมดจะปลอมหรือไม่ เท่าที่ตรวจสอบขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการปลอมแปลง แต่ขอแจ้งไปยังผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นทั้ง 34 ใบตามหมายเลขดังกล่าว นำใบหุ้นไปขอตรวจสอบข้อมูลที่ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ว่ามีการปลอมแปลงใบหุ้นหรือไม่อีกครั้ง


 ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงในวงการโบรกเกอร์ เปิดเผยว่า

สิ่งที่น่ากังวลขณะนี้คือ แบบฟอร์มใบหุ้นสามัญที่บริษัทตรวจสอบเพิ่มเติมแล้วพบว่าได้สูญหายไปจำนวน 34 ใบนั้น แม้บริษัทจะได้แจ้งความและยกเลิกใบหุ้นดังกล่าวแล้ว แต่ก็น่าสงสัยและติดตามว่าใบหุ้นดังกล่าวจะถูกนำไปทำเป็นใบหุ้นปลอมให้กับผู้ถือหุ้นอีกหรือไม่  ดังนั้น ทางที่ดี ผู้ถือหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทยที่ถือครองใบหุ้นอยู่ ควรนำใบหุ้นของตนเองมาตรวจสอบกับทางศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ โดยด่วน เพราะอาจจะกอดใบหุ้นปลอมอยู่โดยไม่รู้ตัวเหมือนในกรณีนี้ได้ 


 ด้านนางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า

หากผู้ถือหุ้นปูนซิเมนต์ไทยคนใดที่ถือครองเป็นใบหุ้นอยู่ และไม่แน่ใจก็สามารถนำใบหุ้นมาให้ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯตรวจสอบได้ และอยากแนะนำให้ผู้ถือหุ้นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทุกคน ควรนำหุ้นที่ถืออยู่มาเข้าระบบสคริปเลส (Scrip less) หรือระบบไร้ใบหุ้น เพราะระบบของศูนย์รับฝากฯ จะเก็บข้อมูลไว้ในระบบอย่างดีปลอดภัยไม่ต้องกลัวสูญหายและเป็นไปตามมาตรฐานสากล 

นอกจากนี้ ศูนย์รับฝากจะจัดส่งสเตตเมนต์หรือใบรายงานถือครองหุ้นไปอัพเดต หรือยืนยันข้อมูลให้ทุก 6 เดือน โดยผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับจากเงินปันผลต่างๆ ก็ยังคงได้รับครบถ้วนไม่ยุ่งยาก  ทั้งนี้  ตั้งแต่ตลาด หลักทรัพย์ใช้ระบบไร้ใบหุ้นยังไม่เคยเกิดปัญหาใดๆ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์