น้ำประปาวิกฤติ”เค็มเกิน” คนเป็นโรคไตห้ามดื่มเด็ดขาด

น้ำประปาวิกฤติ”เค็มเกิน” คนเป็นโรคไตห้ามดื่มเด็ดขาด

ภัยแล้งคุกคามเมืองกรุง น้ำเหนือมีน้อยไม่มีพอไล่น้ำเค็มจากน้ำทะเลหนุน ส่งผลน้ำเค็มทะลักขึ้นไปถึงอยุธยากระทบต่อการผลิตน้ำประปา ระบุน้ำประปาจะมีรสเค็มแม้ผ่านการต้ม เตือนคนเป็นโรคไตห้ามบริโภคเด็ดขาด แต่ยืนยันว่าคนทั่วไปดื่มไม่มีปัญหา

เมื่อเวลา 15.30 น. ที่การประปานครหลวง (กปน.) สำนักงานใหญ่
 
นายวิสุทธิ์ นพคุณทอง รองผู้ว่าการ กปน.ฝ่ายผลิตและส่งน้ำในฐานะประธานกรรมการศูนย์อำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์น้ำและคุณภาพน้ำ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เริ่มส่งผลต่อพื้นที่ภาคกลางมาตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาในฝั่งตะวันออกที่ใช้น้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว เริ่มตั้งแต่ช่วงวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากที่กรมชลประทานลดการปล่อยน้ำผ่านลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเหลือเพียง 50 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับปรากฏการณ์น้ำทะเลยกตัวสูงมาเร็วกว่าทุกปี ส่งผลให้มีน้ำทะเลหนุนเข้าแม่น้ำเจ้าพระยามาก จนเลยสถานีสูบน้ำสำแล จังหวัดปทุมธานี ไปถึงอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยขณะนี้น้ำดิบที่สูบจากสถานีสำแล จะมีค่าความเค็ม (คลอไรด์) สูงถึง 250-260 มก./ลิตร จากภาวะปกติจะมีค่าคลอไรด์เพียง 20 มก./ลิตร

แม้จะมีการประสานกลับกรมชลประทานในการเพิ่มการปล่อยน้ำจากเขื่อนเป็น 70 ลบ.ม./วินาที รวมกับน้ำที่ผันจากแม่น้ำแม่กลอง

ผ่านทางคลองพระยาบรรลือมาช่วยอีกประมาณ 1.5 ล้าน ลบ.ม./วัน แต่จุดรับน้ำของ กปน.อยู่ท้ายสุดผ่านการใช้น้ำจาก 22 จังหวัดภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกทำให้มีน้ำเหลือไปผลักดันน้ำเค็มไม่มาก  ส่งผลให้ กปน.ต้องสูบน้ำเค็มมาใช้ผลิตน้ำประปา   เพื่อให้ประชาชน 10 ล้านคน ไม่ให้ขาดแคลนน้ำประปา ซึ่งในการอุปโภคประชาชนยังใช้น้ำได้ตามปกติ แต่ถ้าใช้บริโภคแม้จะผ่านการต้ม น้ำจะยังมีรสกร่อยและยังมีค่าคลอไรด์สูงอยู่ ซึ่งในคนปกติสามารถดื่มได้ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ  แต่จะรู้สึกว่าดื่มน้ำแล้วยังกระหายน้ำอยู่ ส่วนผู้ป่วยโรคไต จะได้รับผลกระทบโดยต้องซื้อน้ำดื่มที่มีค่าคลอไรด์ปกติมาดื่มแทน โดยต้องเป็นน้ำที่ผ่านเครื่องกรองระบบ RO

“ ค่าความเค็มในน้ำดิบที่พบขณะนี้ไม่เคยเจอมาก่อน ถือว่าเกิดขึ้นในรอบ 100 ปี ที่เคยพบเมื่อปี 2553 ก็น้อยกว่านี้มาก มีลิ่มความเค็มจ่อที่ สถานีสูบน้ำสำแลแค่ 2-3 ชั่วโมง ก็ลดลงไปซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ ไม่กระทบกับการผลิตน้ำประปา  แต่ปีนี้เราไม่มั่นใจเลย ที่ผ่านมาปัญหาน้ำเค็มเกิดช่วงเดือน เม.ย. พอถึงเดือน พ.ค. ฝนก็ตกจึงเป็นปัญหาแค่ช่วงสั้นๆ แต่ปีนี้เกิดขึ้นเร็ว ตั้งแต่เดือน ก.พ. อีกทั้งปีนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าฝนจะตกช้าอาจเป็นเดือน มิ.ย. จึงอยากบอกประชาชนว่าจากนี้ไปอีก 2-3 เดือน รสชาติของน้ำประปาอาจเปลี่ยนไป แต่คุณภาพของน้ำยังเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยกเว้นรสชาติที่อาจเปลี่ยนไป ทั้งนี้จะเป็นเฉพาะพื้นที่ให้บริการด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือกรุงเทพฯ ฝั่งพระนคร ส่วนพื้นที่ฝั่งธนบุรีที่รับน้ำจากโรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์จะไม่ได้รับผลกระทบนี้ “นายวิสุทธิ์กล่าว


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์