น้องหม่องประกาศคว้าแชมป์กลับไทย หลังกต.ออกพาสปอร์ตเหลืองบินสู้ศึก พ่อเร่งฟิตกล้ามเนื้อ ฝึกสมาธิ


น้องหม่องได้เดินทางแข่งเครื่องบินกระดาษพับ ที่ญี่ปุ่นแล้ว หลังกต.ออกพาสปอร์ตเหลืองให้ "ไอ้หนู" ขอบคุณมาร์ค-มท.ช่วยเหลือ ประกาศนำแชมป์กลับไทย บิดาเร่งฟิตกล้ามเนื้อ ฝึกสมาธิ

กระทรวงการต่างประเทศออกเอกสารเดินทางคนต่างด้าว (พาสปอร์ตเหลือง) ให้แก่ ด.ช.หม่อง ทองดี บุตรแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านห้วยทราย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อไปแข่งเครื่องบินพับกระดาษนานาชาติ ที่เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายนนี้แล้ว ทั้งนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 กันยายน ที่กองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าว กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ นายดวงฤทธิ์ เภติมา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยทราย ได้พา ด.ช.หม่องมารอรับพาสปอร์ตเหลือง หลังจากทราบว่ากรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือขอความอนุเคราะห์เรื่อง "การให้บุตรแรงงานต่างด้าวเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร และเดินทางกลับเข้ามาอีกเป็นการเฉพาะราย" มาให้กองตรวจลงตราฯแล้ว ทันทีเจ้าหน้าที่กองตรวจลงตราฯได้รับหนังสือจากกรมการปกครองก็ดำเนินการจัดทำเอกสารเดินทางคนต่างด้าวให้แก่ ด.ช.หม่องทันที


จากนั้น นางมธุรพจนา อิทธะรงค์ รองอธิบดีกรมการกงสุล เป็นตัวแทนมอบเอกสารเดินทางคนต่างด้าวให้แก่ ด.ช.หม่อง พร้อมกับชี้แจงรายละเอียดเอกสารว่าเป็นเอกสารที่มีอายุ 1 ปี คือตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2552-3 กันยายน 2553 โดยได้มีการลงตราวีซ่าเพื่อกลับเข้าประเทศไทยภายใน 3 เดือน ดังนั้น ในช่วง 3 เดือนนี้ ด.ช.หม่องสามารถไปประเทศใดก็ได้ แต่ต้องกลับเข้ามาประเทศไทยภายใน 3 เดือน และเมื่อครบ 3 เดือนแล้ว หาก ด.ช.หม่องต้องเดินทางไปแข่งเครื่องบินกระดาษพับอีก ก็สามารถมาติดต่อขอประทับตราวีซ่าเพื่อกลับเข้าประเทศได้อีก ประทับตราวีซ่าได้ครั้งละ 3 เดือน จนกว่าจะครบ 1 ปี ของอายุเอกสาร โดยไม่จำเป็นต้องมีหนังสือขอความอนุเคราะห์ของกระทรวงมหาดไทยอีก


"กระทรวงการต่างประเทศก็รู้สึกดีใจกับ ด.ช.หม่องด้วย และหวังว่าจะได้ชัยชนะในการไปแข่งครั้งนี้" นางมธุรพจนากล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด.ช.หม่องได้มอบเครื่องบินกระดาษให้นางมธุรพจนาเป็นการขอบคุณ พร้อมกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทยที่ช่วยดำเนินการในเรื่องนี้ให้ว่า "ผมรู้สึกดีใจและฝากบอกเพื่อนๆ ที่โรงเรียนบ้านห้วยทรายด้วยว่าจะได้ไปแข่งที่ญี่ปุ่นแล้ว ขอให้ทุกคนเป็นกำลังใจให้ด้วย ผมจะคว้าแชมป์กลับมาให้ได้"


นายดวงฤทธิ์กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่นายอภิสิทธิ์ให้ความสำคัญกับเด็ก และสนับสนุนไปแข่งขัน แต่ ด.ช.หม่อง ได้ยื่นฟ้องนายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อศาลปกครองฐานออกหนังสือรับรองเดินทางออกนอกประเทศล่าช้าและขอให้ศาลสั่งคุ้มครองสถานภาพเด็กที่เกิดในประเทศ ซึ่งสภาทนายความให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ ด.ช.หม่องมีสถานภาพบุคคลที่ขึ้นทะเบียนในประเทศ และมีสิทธิไปแข่งขันได้ ซึ่งเป็นคดีตัวอย่างและเป็นบรรทัดฐานในคดีเด็กไร้สัญชาติขอเดินทางออกนอกประเทศ 


"ยังไม่ทราบจะเดินทางกลับเชียงใหม่เมื่อไหร่ ต้องรอศาลวินิจฉัยก่อน และทำเรื่องไปญี่ปุ่น เลยไม่ได้จองตั๋วเครื่องบินกลับ อาจใช้เวลาอีก 1-2 วันเสร็จ ซึ่งได้โทรศัพท์แจ้งผู้ปกครอง ด.ช.หม่องแล้ว ว่าไม่ต้องเป็นห่วง จะดูแลเป็นอย่างดี และต่อสู้จนกว่าจะประสบความสำเร็จ ก่อนเดินทางกลับจะขอพบคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อรายงานความคืบหน้าและขอบคุณที่ช่วยเหลือโดยตลอด" นายดวงฤทธิ์กล่าว


ขณะที่ นายยุ้น ทองดี บิดา ด.ช.หม่อง เปิดเผยว่า ดีใจมากที่ลูกจะได้ไปแข่งขันที่ญี่ปุ่น และขอขอบคุณนายอภิสิทธิ์ โรงเรียนที่ดูแลและทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือ ก่อนไปแข่งขันจะพาลูกไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพ เพื่อกราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพรให้ชนะและคว้าแชมป์กลับประเทศ สร้างชื่อเสียงตอบแทนแผ่นดินเกิด ซึ่งนางมอย มารดา บนบานศาลกล่าวให้ลูกประสบความสำเร็จ


"ลูกชายอยู่บ้านชอบเล่นและสอนน้องสาววัย 2 ขวบ ทำเครื่องบินกระดาษพับบริเวณหน้าบ้านเช่าและช่วยแม่ทำงานบ้าน ทั้งหุงข้าว ซักผ้า กวาดบ้าน เลี้ยงน้อง และช่วยแม่จุดธูปเทียนไหว้ศาลพระภูมิในตอนค่ำ นั่งสมาธิ เพื่อฝึกจิตให้นิ่ง ไม่วอกแวก เวลาว่างจะชอบดูการ์ตูนในทีวี แต่ไม่ชอบอ่านหนังสือ ส่วนเสาร์อาทิตย์ จะช่วยพ่อทำงานก่อสร้าง บางวันจะขอพ่อพาไปออกกำลังกายที่สนามเด็กเล่นและสวนสาธารณะภายในโรงพยาบาลสวนปรุง เพื่อวิ่ง วิดพื้นและบริหารกล้ามเนื้อท้อง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งกล้ามเนื้อด้วย" นายยุ้นกล่าว


นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขานุการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า ขณะนี้มูลนิธิได้เปิดโครงการ "สถานีสัญชาติ" เพื่อช่วยเหลือเด็กที่เชื่อว่าเป็นคนไทย มีพ่อแม่เป็นคนไทย แต่ยังไม่มีสัญชาติไทย ที่มีประมาณ 2 แสนคน ซึ่งส่วนมากอยู่ในสลัม และพื้นที่ห่างไกล จากการลงพื้นที่เบื้องต้นพบว่า ปัญหานี้เกิดมา 3 รุ่น ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ที่ไม่มีสถานะแสดงบุคคล ที่ผ่านมาจึงร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เทศบาล อบจ.โคราช และทนายความ ทำโครงการนำร่องที่หลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ผลจากการลงพื้นที่ 3 วันแรก พบ 7 คน จาก 200 คน ไม่มีสถานะ จึงได้ดำเนินการให้ได้สัญชาติแล้วจำนวน 76 คน


"ขณะนี้เมื่อเปิดตัวโครงการ วันหนึ่งเฉลี่ย 20 ราย แจ้งมาให้ช่วยเหลือเรื่องสัญชาติ ซึ่งดำเนินการได้ไม่ยากเหมือนคนชายขอบ ทั้งนี้ ผู้ที่มีปัญหาสามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 0-2574-1381 หรือ 0-2574-3753  ขณะนี้โครงการรุกต่อไปยังชุมชนสลัม 20 แห่ง จาก 3,000 กว่าแห่ง เพื่อเข้าไปค้นหาเด็กไทยแต่ไร้สถานะ และได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งเป็นเครือข่ายคนทำงานช่วยเด็กไร้สถานะแล้ว"


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์