นายกฯเอาใจม.นอกระบบสิทธิเท่าขรก.

"นายกฯพูดหวานเรียก พนง.มหา´ลัย เป็น ขรก.มหา´ลัย"


"สุรยุทธ์" เอาใจ ม.ออกนอกระบบ เปลี่ยนชื่อเรียกพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นข้าราชการมหาวิทยาลัย พร้อมให้สิทธิได้รับเงินเดือน-เครื่องราชอิสริยาภรณ์เช่นเดียวกับข้าราชการ

เปิดช่อง ม.รัฐไม่พร้อมออกนอกระบบยื่นความจำนงได้ แนะมหาวิทยาลัยอาศัยความจริงใจ เปิดกว้างให้มีส่วนร่วมแสดงความเห็นแก้ปัญหาขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง นโยบายต่อการพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ตอนหนึ่งในการประชุมวิชาการเรื่อง อนาคตของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ว่า ขอพูดในฐานะที่เป็นผู้บริหารประเทศและในฐานะนายกสภา สจล. ซึ่งตนเกี่ยวข้องกับการศึกษามานาน เห็นว่าการบริหารการศึกษามีอุปสรรคและหาทางแก้ไขมาตลอด และแนวคิดดูแลตนเองของมหาวิทยาลัยมีมานาน หากมีความพร้อมทั้งบุคลากรและทรัพยากร และการบริหารงานที่ยึดหลักธรรมาภิบาล ก็สามารถเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐได้ ถ้าไม่มีความพร้อมก็เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐไม่ได้

"ต้องกระจายอำนาจ"


นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า มองภาพการบริหารงานว่าจำเป็นต้องกระจายอำนาจ หากบริหารงานแบบรวมศูนย์ ตนจะต้องเข้าไปดูทุกเรื่อง แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัย ซึ่งคงไม่ต้องมีนายกรัฐมนตรีกันแล้ว ส่วนรัฐบาลดูแลเฉพาะนโยบาย เพราะมีเรื่องอีกมากที่ต้องทำ อยากฝากทุกคนว่า ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง ตามหลักศาสนาการเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง เราต้องเตรียมตัว เตรียมใจ เหมือนอย่างตนพร้อมเผชิญกับวันสุดท้ายในชีวิต เตรียมความพร้อมทุกด้าน

"ปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งทางความคิด จะต้องอาศัยความจริงใจ และการเปิดให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเชื่อว่าจะนำมาสู่การแก้ปัญหาได้ รวมถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ รัฐบาลเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมตัดสินใจบนพื้นฐานของเหตุและผล มหาวิทยาลัยใดพร้อมก็สามารถดำเนินการได้ แต่ถ้าไม่พร้อมก็บอกมา เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่อธิการบดีทำหนังสือแจ้งให้ทราบว่ายังไม่พร้อม ขณะนั้นร่าง พ.ร.บ.ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แต่ยังไม่ได้เสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผมจึงมีอำนาจตัดสินใจถอนร่างกลับคืนมาก่อนได้" พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าว

"เปิดโอกาสให้พิจารณาตามความเหมาะสม"


นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ทุกมหาวิทยาลัยพิจารณาความเหมาะสมในการบริหารเอง โดยไม่กดดัน ส่วนการเรียกชื่อพนักงานมหาวิทยาลัยบุคลากรหลายแห่งอาจไม่พอใจ รัฐบาลได้พิจารณาและเห็นควรจะปรับแก้ชื่อเรียกพนักงานของรัฐในมหาวิทยาลัย เป็นข้าราชการมหาวิทยาลัย ทั้งให้มหาวิทยาลัยมีเสรีในการปรับขึ้นเงินเดือน และมีสิทธิได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เช่นเดียวกับข้าราชการ เพราะข้าราชการมหาวิทยาลัยไม่อยู่ในฐานะที่ด้อยกว่าหรือเสียเปรียบข้าราชการพลเรือน มีแต่จะมีโอกาสใช้ความคล่องตัวพัฒนามหาวิทยาลัยให้ก้าวหน้าบนพื้นฐานความร่วมมือร่วมใจ

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐไม่ได้มีเสรีภาพการดำเนินงานไปทั้งหมด เพราะยังมี พ.ร.บ.อื่นๆ กำกับอยู่นอกเหนือจาก พ.ร.บ.แต่ละมหาวิทยาลัยที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สนช. ที่สำคัญการบริหารงานระดับมหาวิทยาลัยควรน้อมนำพระราชดำริหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาบริหารงาน โดยรับฟังความคิดเห็นคนในส่วนงาน ก้าวไปข้างหน้าด้วยเหตุและผล ใช้ทรัพยากรเท่าที่มหาวิทยาลัยมี บนภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งไม่ให้การก้าวไปเกิดความผิดพลาด

อยากเห็นมหาวิทยาลัยเป็นแบบอย่างที่ดีให้สังคม ผู้บริหารต้องทำงานในลักษณะโปร่งใส ตรวจสอบข้อมูลได้ ให้นักศึกษาที่จบจากสถาบันได้เห็นเป็นแบบอย่าง อย่าให้นักศึกษาติดภาพว่ามหาวิทยาลัยไม่ให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาล พล.เอกสุรยุทธ์ กล่าว

"ต้องหาจุดแข็งและจุดอ่อน"


นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้ถามความเห็นการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งมหาวิทยาลัยอยากออกนอกระบบ แม้เทียบศักยภาพกับมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ไม่ได้ แต่จะเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่นต้องหาจุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อดูทางรอดว่าอยู่ที่ไหน

พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลคิดว่าปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาล่าช้า เห็นชัดจากผลประเมินมาตรฐานการศึกษามีโรงเรียน 1 ใน 3 ไม่ผ่านเกณฑ์ โดยเฉพาะด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เยาวชนไทยขาดความสนใจเรื่องนี้ และมีคนเก่งมาถ่ายทอดความรู้ด้านนี้น้อย รัฐบาลจัดสรรงบการศึกษาในสัดส่วน 37% ของงบประมาณชาติ แต่กว่า 72% ของงบการศึกษาเป็นงบบริหารงานทั่วไป อีก 28% ใช้ปฏิรูปการศึกษา ซึ่งต้องจัดการให้ดีว่าจะใช้ทรัพยากรเท่าที่มีอย่างไรยกระดับความรู้ให้เยาวชน

"ตอนรัฐบาลทักษิณ ประชาคมแทบไม่มีส่วนร่วม"


วันเดียวกัน ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (วายพีดี.) ออกแถลงการณ์ว่า นโยบายมหาวิทยาลัยนอกระบบนั้น ในรัฐบาลทักษิณประชาคมมหาวิทยาลัย นักศึกษา แทบไม่มีส่วนร่วม และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ยังไม่ได้มีประชาพิจารณ์หรือประชามติใดๆ ถ้าจะออกนอกระบบรัฐควรสนับสนุนงบแก่มหาวิทยาลัยโดยออกพันธบัตรแต่ละปีอย่างพอเพียง มีระบบตรวจสอบ ถ่วงดุลการบริหารมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาและประชาคมมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งจะยื่นหนังสือถึงนายกฯ สัปดาห์หน้า

ผศ.น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองอธิการบดี ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบของ มศว ไม่มีอาจารย์ประท้วง เพราะใช้เวลาร่าง พ.ร.บ.5-6 ปี และประชาพิจารณ์ 14 ครั้ง โดยไม่มีผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้ามาเกี่ยวข้อง และอาจารย์ เจ้าหน้าที่ทุกคณะทุกสาขามีส่วนร่วม ตอนนี้ร่าง พ.ร.บ.อยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกา และวันที่ 25 ธันวาคม 2549 จะจัดสัมมนา มศว ออกนอกระบบอย่างไรถึงไร้ปัญหา

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์