นักดาราศาสตร์ชวนชาวไทยชมฝนดาวตกวันแม่ 12 ส.ค.

ฝนดาวตกที่ไทย

31 กรกฎาคม 2550 08:04 น.

คนไทยทั่วประเทศรอชม "ฝนดาวตกวันแม่" หรือฝนดาวตกเปอร์เซอิด ที่เกิดขึ้นช่วง 12 สิงหาของทุกปี หลังชวดมาตลอดเพราะฟ้าปิด นักดาราศาสตร์ชี้สวยงามรองจากราชาแห่งฝนดาวตก "ลีโอนิดส์" แนะให้มองทางขอบฟ้าสูงประมาณ 45 องศา ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ


หากฟ้าเปิดสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นลูกไฟขนาดใหญ่สีขาว-เหลือง ด้านโรงแรมภูเก็ตสั่งซื้อกล้องดูดาวไว้บริการนักท่องเที่ยว ม.ราชภัฏเตรียมสนามฟุตบอลไว้รองรับ ขณะที่เชียงใหม่เตรียมจัดให้ความรู้แก่คนที่สนใจ

 นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ หอดูดาวบัณฑิต ตลาดบางบ่อ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา

กล่าวว่า ช่วงวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หรือ วันแม่แห่งชาติ จะเกิดปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ฝนดาวตกเปอร์เซอิด ซึ่งดาวตกเกือบครึ่งหนึ่งของฝนดาวตกกลุ่มนี้สว่างมาก ส่วนใหญ่มีสีขาว-เหลือง และมีอัตราการเกิดค่อนข้างถี่ เคลื่อนเข้าสู่บรรยากาศโลกด้วยอัตราเร็วประมาณ 59 กิโลเมตรต่อวินาที และข้อมูลจากองค์การอุกกาบาตสากล คาดหมายว่า ช่วงปะทะดาวตกสูงสุด 59 ดวงต่อชั่วโมง เฉลี่ยราวนาทีละ 1 ดวง โดยชุดฝนดาวตกเปอร์เซอิดสวยงามมาก เป็นรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ ที่เป็นราชาแห่งฝนดาวตกเท่านั้น



นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า ผลจากการเฝ้าติดตามเพื่อศึกษาปรากฏการณ์และบันทึกภาพทางดาราศาสตร์บนท้องฟ้าตลอด 10 ปี ไม่มีโอกาสมองเห็นฝนดาวตกเปอร์เซอิดมากนัก เนื่องจากประเทศไทยเป็นช่วงฤดูฝน ท้องฟ้าปิด หากสภาพท้องฟ้าเปิดจะสามารถมองเห็นฝนดาวตกเปอร์เซอิดได้ดี เนื่องจากไม่มีแสงจันทร์รบกวน



 “ฝนดาวตกเปอร์เซอิดเกิดขึ้นเมื่อโลกโคจรผ่านธารสะเก็ดดาวหาง ดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิล ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบการโคจรประมาณ 130 ปี ความเร็วประมาณ 53 กิโลเมตรต่อวินาที เข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2535 ที่ถูกรังสีจากดวงอาทิตย์ทำให้ผิวดาวหางระเหิดปลดปล่อยแก๊สและฝุ่นออกมาในอวกาศ สะเก็ดดาวจำนวนมากที่หลุดออกมาจากดาวหางยังคงล่องลอยอยู่ในอวกาศ หากวงโคจรของสะเก็ดดาวเหล่านั้น ผ่านใกล้วงโคจรโลกจะทำให้เกิดดาวตกที่มีกำเนิดจากแหล่งเดียวกันจากกลุ่มดาวเปอร์เซอิด ใกล้กับกลุ่มดาวแคสซิโอเปียในซีกฟ้าเหนือ เรียกว่าฝนดาวตกศาสตร์ ฝนดาวตกเปอร์เซอิด” นายวรวิทย์กล่าว


 วิธีการชม ให้มองทางขอบฟ้าสูงประมาณ 45 องศา ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวตกจะมีแนวที่ดูคล้ายพุ่งออกมาจากกลุ่มดาวเปอร์เซอิดใกล้กับกลุ่มดาวแคสซิโอเปียในซีกฟ้าเหนือ เริ่มตั้งแต่ประมาณเวลา 22.00 น. วันที่ 12 สิงหาคม เป็นต้นไป ต่อเนื่องไปถึงเช้าวันที่ 13 สิงหาคม จะเริ่มเห็นถี่ขึ้นทีละน้อย ถี่มากที่สุดช่วงเวลาประมาณ 04.00-05.00 น. การสังเกตดาวตกให้เห็นชัดควรดูจากที่ฟ้ามืด ห่างจากเมืองใหญ่ ไม่มีแสงไฟรบกวน ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ใดๆ เพียงแต่นอนดู มองขึ้นไปบนท้องฟ้าเท่านั้น ลักษณะส่วนใหญ่จะพบเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ สีขาว-เหลือง แต่มีอุปสรรคไม่สามารถชมปรากฏการณ์ได้มาตลอดช่วง 10 ปี คือ สภาพท้องฟ้าปิด เพราะอยู่ในช่วงฤดูฝน


 ด้าน นายศักดิ์ชาย เพชรช่วย อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวว่า ได้จัดกิจกรรม โดยพานักศึกษาของชมรมดูดาวและนักศึกษาที่สนใจ ร่วมกันดูปรากฏการณ์ดังกล่าวที่บริเวณสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัย เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาสนใจและเรียนรู้ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้น ส่วนจะมองเห็นหรือไม่ก็คงต้องลุ้นกัน เนื่องจากช่วงนี้อยู่ในภาวะความกดอากาศต่ำ ทำให้มีฝนตกเกือบทุกวัน


 นายศักดิ์ชาย กล่าวว่า การจัดกิจกรรมดูดาว หรือปรากฏการณ์บนท้องฟ้า ที่ผ่านมา จะเน้นสำหรับนักศึกษาและประชาชนที่สนใจเท่านั้น ยังไม่มีการจัดสำหรับนักท่องเที่ยว แต่มีผู้ประกอบการโรงแรมบางแห่งเริ่มให้ความสนใจ ล่าสุดมีการติดต่อประสานมาว่าทางโรงแรมได้ซื้อกล้องดูดาวมาไว้แล้ว 1 ตัว เพื่อจัดกิจกรรมดูดาวเป็นประจำ



 ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเปอร์เซอิด ที่จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 12 สิงหาคม 2550 สามารถมองเห็นได้ทั่วโลก ประชาชนเป็นจำนวนมากจึงตั้งตารอชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ โดยเฉพาะในประเทศไทย ฝนดาวตกเปอร์เซอิดเกิดขึ้นตรงกับวันแม่แห่งชาติ ซึ่งถือเป็นวันสำคัญของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศด้วย ทางสถาบันดาราศาสตร์ได้เตรียมจัดกิจกรรมเกี่ยวกับฝนดาวตกเปอร์เซอิดขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป เพราะคาดว่าปรากฏการณ์ฝนดาวตกครั้งนี้จะได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก



 "ปีนี้ค่อนข้างโชคดี เพราะตรงกับแรม 14 และ 15 ค่ำ หรือคืนเดือนมืด แต่ในส่วนของประเทศไทยและภาคเหนือตรงกับช่วงฤดูฝน ท้องฟ้าอาจถูกเมฆบดบังจนชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกได้ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศสามารถรับชมได้ชัดเจนกว่า เพราะท้องฟ้าเปิด ประชาชนจึงตื่นตัวกันมาก เนื่องจากฝนดาวตกเปอร์เซอิดมีความสวยงามไม่แพ้ฝนดาวตกเลโอนิดส์" รศ.บุญรักษากล่าว

 ข้อมูลฝนดาวตกเปอร์เซอิดจากเวบไซต์ darasart.com ระบุว่า คนไทยมักเรียกฝนดาวตกนี้ว่า "ฝนดาวตกวันแม่" เพราะเป็นฝนดาวตกที่มีช่วงสูงสุดอยู่ราววันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา หรือ วันแม่แห่งชาติ



 ข้อมูลจากเวบไซต์ดังกล่าว ยังระบุว่า การสังเกตฝนดาวตกเปอร์เซอิด ฝนดาวตกนี้มีจุดเรเดียน หรือจุดกำเนิดอยู่ในกลุ่มดาวเปอร์เซอุส ใกล้กับดาวแกมม่าเปอร์ซี่ ซึ่งวันที่ 11-12 สิงหาคม กลุ่มดาวนี้จะเริ่มขึ้นจากขอบฟ้าหลังเที่ยงคืนไปแล้ว ดังนั้นช่วงการสังเกตดีที่สุดต้องราวๆ ตี 2-ตี 3 แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับช่วงเวลาเกิดขึ้นสูงสุดของฝนดาวตกในปีนั้นๆ การสังเกตให้มองไปทางฟ้าซีกเหนือ (เพราะกลุ่มดาวเปอร์เซอุสเป็นกลุ่มดาวฟ้าซีกเหนือ) แล้วมองท้องฟ้ามุมกว้างๆ ซึ่งดาวตกจะปรากฏห่างจากจุดเรเดียนประมาณ 30-40 องศาโดยรอบ จะมีทิศทางผ่านกลุ่มดาวแคสซิโอเปีย กลุ่มดาวสารถี และกลุ่มดาวแอนโดรเมด้า เป็นส่วนใหญ่



 ในปี 2550 นี้ ตรงกับคืนเดือนมืด แรม 15 ค่ำ ทำให้ไม่มีอุปสรรคจากแสงจันทร์มารบกวน แต่ตรงกับฤดูฝนของประเทศไทย ทำให้ต้องเสี่ยงลุ้นกับสภาพอากาศว่าจะเป็นใจหรือไม่ ฝนดาวตกเปอร์เซอิดปกติจะเริ่มมีตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม บ้างเล็กน้อย จนถึงวันที่ 24 สิงหาคม แต่เกิดขึ้นมากที่สุดจะตรงกับช่วงต่อของวันที่ 12 สิงหาคม ถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม


ข้อมูลเพิ่มเติม : ฝนดาวตก คือดาวตกหลายดวงที่ดูเหมือนพุ่งออกมาจากบริเวณเดียวกันในท้องฟ้าในช่วงเวลาเดียวกันของปี

ซึ่งเกิดจากเศษชิ้นส่วนในอวกาศที่พุ่งเข้ามาในบรรยากาศโลกด้วยอัตราเร็วสูง
แต่ละคราวที่ดาวหางเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ จะมีเศษชิ้นส่วนขนาดเล็กของดาวหางถูกสลัดทิ้งไว้ตามทางโคจร เรียกว่า "ธารสะเก็ดดาว"

หากวงโคจรของโลกและของดาวหางซ้อนทับกัน โลกจะเคลื่อนที่ผ่านธารสะเก็ดดาวในช่วงวันเดียวกันของแต่ละปี ทำให้เกิดฝนดาวตก


การที่สะเก็ดดาวในธารเดียวกัน เคลื่อนที่ขนานกันและมีอัตราเร็วเท่ากัน ดาวตกที่เราเห็นจึงดูเหมือนพุ่งออกมาจากจุดเดียวกันในท้องฟ้า ซึ่งเป็นผลจากทัศนมิติ (perspective) เปรียบเหมือนกับที่เราเห็นรางรถไฟไปบรรจบกันที่ขอบฟ้า เมื่อยืนดูจากกลางราง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์