นกแอร์แฉแค่เสี้ยวนาที-บินเฉี่ยวกลางฟ้า

อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศยันเหตุเครื่องบินนกแอร์และวันทูโกหวิดชนกันกลางอากาศเป็นเรื่องไม่ปกติ

อ้างที่ปธ.สอบสวนบอกเป็นเรื่องปกติหมายถึงต้องทำรายงานเสนอให้ทราบ ชี้ไม่อยากให้แตกตื่นเพราะจริงๆ แล้วไม่ได้ร้ายแรงเนื่องจากเครื่องยังห่างกันเกือบ 10 ก.ม. เพียงแต่เมื่อมีสัญญาณเตือนระวังการชน กัปตันจึงต้องลดเพดานบินทันที รวมทั้งทำรายงานเสนอตามกฎ ด้านวิทยุการบินระบุหากกัปตันบินตามเพดานที่สั่งไปจะไม่มีปัญหาเด็ดขาด ส่วนสาเหตุมีหลายองค์ประกอบ ขณะที่รองประธานนกแอร์ เผยนาทีเกิดเหตุที่กัปตันทำรายงานขึ้นมา ระบุบินมาอยู่ดีๆ มีสัญญาณเตือนการชนและมองจากเรดาร์เห็นเครื่องบินอีกลำบินขึ้นๆ ลงๆ ตรงเข้ามาหา จึงตัดสินใจลดเพดานบินลงพ้นจากการชนหวุดหวิด ชี้เป็นครั้งแรกที่เจอตั้งแต่เปิดบริการสายการบินขึ้นมา โดยที่เยอรมันเคยเกิดเหตุเครื่องบินชนกันกลางอากาศมาแล้ว

จากกรณีกรมการขนส่งทางอากาศ มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนเหตุการณ์สายการบินนกแอร์เที่ยวบินที่ ดีดี 8715 ใช้เครื่องบินแบบ โบอิ้ง 734

เดินทางจากสนามบินเชียงรายมุ่งหน้าเข้าดอนเมือง เมื่อเวลา 11.05 น. เกือบเฉี่ยวชนกับสายการบินโอเรียนไทย หรือวัน-ทู-โก เที่ยวบินที่ โอจี 8104 ใช้เครื่องบินแบบ เอ็มดี 82 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับที่เกิดอุบัติเหตุไถลออกจากรันเวย์สนามบินภูเก็ต เดินทางจากสนามบินดอนเมืองมุ่งหน้าสู่สนามบินเชียงใหม่ บริเวณอ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2550 ที่ผ่านมา แต่มีการปิดข่าวอย่างเงียบเชียบ

เบื้องต้นผลการสอบสวนพบว่า

สายการบินวัน-ทู-โก ลดเพดานบินลงต่ำกว่าที่ขออนุญาตไว้ กัปตันชาวอินโดนีเซีย ระบุว่าเกิดจากเครื่องเดินอากาศอัตโนมัติ (AUTO PILOT) ที่ตั้งไว้เกิดหลุด ทำให้เครื่องลดเพดานลงมาในระดับเดียวกับสายการบินนกแอร์ ที่แล่นสวนมา แต่โชคดีที่กัปตันชาวไทยของสายการบินนกแอร์ ได้รับการแจ้งเตือนจากอุปกรณ์แจ้งเตือนเครื่องบินชนกันกลางอากาศ หรือ "ทีแคช" (TCAS) ว่ามีเครื่องบินพุ่งตรงเข้ามาหา จึงหักหลบก่อนเกิดชนกันกลางอากาศ ขณะที่นายจรูญ มีสมบุญ ผู้อำนวยการกองมาตรการการบิน กรมการขนส่งทางอากาศ เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ระบุว่าเป็นเรื่องปกติเพราะเคยได้รับรายงานเรื่องทำนองนี้เป็นประจำ ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 18 ม.ค. นายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ กล่าวว่า

กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องไม่ปกติ แต่ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตกใจและหวาดกลัวกับการโดยสารทางเครื่องบิน เพราะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเหตุการณ์ไม่ได้ร้ายแรง และการโดยสารทางเครื่องบินก็ยังมีความปลอดภัยสูง ปัญหาทางเทคนิคจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเครื่องบินทั้งสองลำ เมื่อมีการบินมาอยู่ในเส้นทางเดียวกัน เครื่องตรวจวัตถุของเครื่องบินแต่ละลำ ที่เรียกว่า "ทีแคช" ได้ส่งสัญญาณเตือนนักบิน ซึ่งลักษณะที่เกิดขึ้นศัพท์ทางการบินเรียกว่า "Near miss" แต่ตามข้อเท็จจริง เครื่องบินทั้งสองลำยังมีระยะห่างจากกันในแนวราบอีก 7-10 กิโลเมตร และในระดับการบินก็จะห่างกัน 1,000 ฟุต แต่เพื่อความปลอดภัยกัปตันจึงปรับเพดานบิน เพื่อให้พ้นจากระยะใกล้กัน

"อยากให้เข้าใจว่าเรื่องดังกล่าวเครื่องบินไม่ได้อยู่ใกล้กัน หรือมีลักษณะเหมือนรถยนต์จะเฉี่ยวชนกันและเครื่องวัดก็ทำงานตามปกติ

อย่างไรก็ตามหลังจากมีรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวตามข้อบังคับขององค์การการบินพลเรือน หรือไอซีเอโอ กำหนดให้ทั้งสองสายการบินต้องจัดทำรายงานให้กรมการขนส่งทางอากาศทราบ ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกรมการขนส่งทางอากาศยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องปกติ"นายชัยศักดิ์ กล่าวและว่า ที่มีเจ้าหน้าที่ของกรมระบุเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ หมายความว่าเวลาที่มีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว และมีการรายงานให้กรมทราบ เป็นเรื่องปกติที่แต่ละสายการบินทำกัน ซึ่งขณะนี้การสอบสวนยังไม่ได้ข้อสรุปออกมา

ด้านนายกำธร ศิริกร รองผอ.อาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า

เหตุการณ์ที่สายการบินวัน-ทู-โกและสายการบินนกแอร์เกือบชนกันกลางเวหานั้น ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ถ้านักบินทำตามคำสั่งเรื่องความสูงที่นักบินขอมายังหอควบคุมการบิน ซึ่งในการควบคุมการจราจรทางอากาศนั้นต้องเริ่มตั้งแต่การทำแผนการบิน เพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการจราจรทางอากาศรับทราบ ซึ่งจะเรียกกันว่า Flight Plan ซึ่งจะมีข้อมูลสำคัญต่างๆ ทั้งรุ่นของเครื่องบิน อุปกรณ์บนเครื่อง น้ำหนักเครื่อง เส้นทางบิน เป็นต้น ซึ่งระดับความสูงที่ขอก็จะเกี่ยวกับปริมาณเชื้อเพลิงที่ต้องใช้ด้วย

"ในเรื่องของการควบคุมระดับความสูงของสายการบินต่างๆ ในกรณีที่ต้องใช้เส้นทางเดียวกัน ทางหอควบคุมจะจัดความสูงของแต่ละเครื่องไว้ที่ระยะห่างที่ปลอดภัยคือ 1,000 ฟุต เพียงแต่ไม่สามารถบอกได้ว่าสาเหตุที่สายการบินวัน-ทู-โก ไต่ระดับเพิ่มขึ้นไปเกิดจากสาเหตุอะไร ต้องดูหลายๆ ส่วนประกอบทั้งอุปกรณ์ เครื่องยนต์ และการสอบสวน เพราะนักบินอาจไม่ทันมองเห็นว่าหน้าปัดวัดระดับความสูงเครื่องบินกำลังเปลี่ยนระดับหากเกิดจากอุปกรณ์เสียจริง อย่างไรก็ตามคงต้องรอการตรวจสอบจากกรมการขนส่งทางอากาศว่าเกิดจากสาเหตุอะไร" นายกำธร กล่าว

นายสีหพันธ์ ชุมสาย ณ อยุธยา รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารการตลาดนกแอร์ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่ได้รับรายงานจากกัปตันว่า

วันนั้นสายการบินนกแอร์เที่ยวบินที่ ดีดี 8715 เครื่องบินแบบโบอิ้ง 734 ออกเดินทางจากสนามบินเชียงรายเมื่อเวลา 11.05 น. บินมุ่งหน้ามายังสนามบินดอนเมือง โดยบินอยู่สูงจากพื้นที่ในระดับเพดานการบินที่ 33,000 ฟิต บินมาปกติพอมาถึงช่วงระหว่าง จ.พิษณุโลก-นครสวรรค์ อุปกรณ์การตรวจจับ (เรดาร์) ที่ติดตั้งประจำเครื่องบิน เพื่อตรวจจับว่ามีเครื่องบินลำอื่นบินอยู่รอบๆ ตัว ได้แจ้งให้กัปตันที่ควบคุมเครื่องบินทราบว่า ในเส้นทางที่นกแอร์บินอยู่ มีเครื่องบินลำอื่นกำลังบินสวนมาในลักษณะบินขึ้น-ลงอย่างไม่ปกติ

นายสีหพันธ์ กล่าวต่อว่า

เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นทำให้กัปตันที่บังคับเครื่องบินตัดสินใจในเสี้ยววินาทีนั้นลดระดับการบิน โดยดึงเครื่องลงอย่างกะทันหัน ก่อนจะกลับมาบินในระดับเพดานการบินที่บินอยู่อย่างปกติ ซึ่งเหตุการณ์วันนั้นกัปตันไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเครื่องเรดาร์ไม่สามารถระบุได้ว่าเครื่องบินที่บินตรงเข้ามาเป็นสายการบินอะไร กระทั่งทำเรื่องชี้แจงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนมาทราบภายหลังว่าเป็นเครื่องบินของสายการบินวัน-ทู-โก ถือว่าโชคดีที่ไม่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้น

"ผมขออธิบายให้เข้าใจคือบนอากาศมีถนนสมมติ เครื่องบินจะบินบนถนนเดียวกัน แต่ระดับความสูงการบินไม่เท่ากัน ดังนั้นเครื่องบินที่บินอยู่ไม่สามารถที่จะปรับระดับการบินได้ตามใจชอบ ต้องขออนุมัติจากหอบังคับการบินเสียก่อน รวมทั้งการที่จะบินออกนอกเส้นทางเพื่อปรับระดับก็ต้องขออนุญาตเช่นกัน" รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารการตลาดนกแอร์ กล่าว

นายสีหพันธ์ กล่าวอีกว่า

 ความจริงวันนั้นเครื่องบินได้บินอยู่บนอากาศในความเร็ว 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ลองคิดดูว่าไวขนาดไหนคนนั่งอยู่บนเครื่องอาจจะไม่มีความรู้สึก แต่หากเกิดการผิดพลาดขึ้นจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นเหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่ากัปตันตัดสินใจเพียงเสี้ยววินาที จึงทำให้รอดมาได้ ส่วนจะให้ระบุว่ามันเกิดอะไรขึ้นคงไม่สามารถตอบแทนได้ ต้องไปสอบถามคณะกรรมการจากกรมการขนส่งทางอากาศ หรืออธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศเเป็นผู้ให้ข้อมูลได้ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นกับสายการบินนกแอร์หรือไม่ นายสีหพันธ์ กล่าวว่า

 ตั้งแต่เปิดสายการบินมายังไม่เคยมี เท่าที่ทราบกรณีเครื่องบินชนกันกลางอากาศเคยเกิดขึ้นมาแล้วที่ประเทศเยอรมนี

ต่อข้อถามที่ว่า เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นกับสายการบินอื่น จะนำบทเรียนมาแก้ไขเพื่อตรวจสอบเครื่องยนต์ของสายการบินนกแอร์หรือไม่ นายสีหพันธ์ กล่าวว่า

ปกติสายการบินนกแอร์ใช้มาตรฐานการบินเช่นเดียวกับการบินไทย รวมทั้งใช้มาตรฐานการตรวจเช็กเครื่องยนต์แบบไฮเทค ตรวจเช็กกันอยู่ตลอดเวลาทุกเที่ยวบินเพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ลูกค้า รวมถึงมาตรฐานการซ่อมบำรุงอุปกรณ์การใช้งานด้วย

วันเดียวกันนายอุดม ตันติประสงค์ชัย ประธานบริษัทสายการบินวัน ทู โก ทำหนังสือชี้แจงกรณีเหตุการณ์เครื่องบินนกแอร์-วันทูโกหวิดชนกันกลางเวหา ว่า

จากข่าวที่ออกไปอาจเป็นเหตุทำให้ผู้ใช้บริการเกิดการเข้าใจผิดและตื่นตระหนก จึงขอเรียนว่าบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว และหน่วยราชการของไทยมีขีดความสามารถ และประสบ การณ์ในการควบคุมการปฏิบัติการบินของสายการบินทุกสาย หากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 50 มีอันตรายต่อความปลอดภัย ในความเป็นจริงเครื่องบินทั้งสองลำอยู่ในรัศมีห่างกันเกินกว่าที่จะเกิดอันตราย และระบบการเตือนภัยที่ติดตั้งในเครื่องบินของทั้งสองลำก็ทำงานได้ปกติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางอากาศได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้วในทันที เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมความปลอดภัยของกรมคงไม่ปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนั้นผ่านไปได้และจะต้องดำเนินการในทันที

นายอุดมกล่าวว่า

ขอยืนยันว่าบริษัทยึดถือความปลอดภัยในการทำการบินอย่างสูงสุดโดยไม่มีการยกเว้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบความสามารถในการขับขี่อากาศยาน ที่ทางเรากำหนดให้นักบินที่ทำการบินต้องมีประสบการณ์และชั่วโมงบินมากกว่าที่กำหนดทั่วไป กรมการขนส่งทางอากาศไม่ได้ละเลยต่อการตรวจสอบในเหตุการณ์ดังกล่าว และเป็นผู้กำกับการปฏิบัติการเดินอากาศของสายการบินทุกสาย และจะไม่มีการละเว้นในการลงโทษหากมีการก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของผู้โดยสาร และที่สำคัญทางบริษัทเองก็ไม่อาจจะปล่อยให้ทำการบินของบริษัทดำเนินต่อไป หากมีความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้โดยสาร

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์