น.ศ.มหาลัยอีสานแชมป์หนี้ แฉ4แห่งทำบัญชีผีหลอกกู้!

"วิจิตร"หนุน กยศ.ฟ้องผู้กู้เบี้ยวหนี้กองทุนยืมเรียน แต่ไม่เห็นด้วยที่จะถึงขึ้นยึดทรัพย์ ด้าน ผช.ผจก.กยศ.แจงคนค้างชำระหนี้ส่วนใหญ่จบมหาวิทยาลัยในภาคอีสาน


จากกรณีที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จ้างสำนักงานทนายความทั่วประเทศ 129 แห่ง วงเงิน 390 ล้านบาท ฟ้องร้องผู้กู้กองทุน กยศ.ที่ค้างชำระหนี้ติดต่อกัน 4 ปี และผู้ค้ำประกัน รวม 6.9 หมื่นราย ก่อนจะหมดอายุความ 5 ปี ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ขณะที่นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ไม่เห็นด้วยกับส่งรายชื่อผู้ค้างชำระหนี้เหล่านี้เข้าบัญชีเครดิตบูโรนั้น

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า

การที่ กยศ.ทยอยฟ้องร้องผู้ค้างชำระหนี้ 6.9 หมื่นรายนั้น เป็นกระบวนการยุติธรรมที่มีเหตุมีผล และเป็นวิธีปกติเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของแผ่นดิน เพราะไม่ใช่เงินส่วนตัว โดยผู้ถูกฟ้องควรจะกลับมาเจรจา ส่วนการสร้างจิตสำนึกนั้น ได้รณรงค์มาโดยตลอด ซึ่งจิตสำนึกในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนต้องมี ไม่ใช่เพิ่งมาสร้างจิตสำนึกตอนเป็นหนี้ กยศ.แต่ทั้งหมดต้องดูเหตุผลความจำเป็น

ผมไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่กับเรื่องนี้ เพราะคนที่ไม่ยอมชำระหนี้มีแค่ 7 หมื่นคน จากผู้กู้ 2.6 ล้านคน

ซึ่งในระบบเงินยืมเพื่อการศึกษาทั่วโลกมีการสูญเสียทั้งนั้น เพราะให้กู้ผู้ที่ไม่มีรายได้ เพราะไม่สามารถหางานทำได้ ดังนั้น เมื่อตอนเริ่มโครงการจึงเตรียมใจกันแล้วว่าต้องสูญเสียบ้าง เพียงแต่ให้สูญเสียน้อยที่สุด และประสบการณ์ที่ผมได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกเกี่ยวกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาในบางประเทศ พบว่าไม่ได้คืนถึง 50% ดังนั้น ผมจึงชื่นชมคนไทยที่จบการศึกษาใหม่ๆ ที่ใช้คืนเมื่อถึงเวลา กว่า 65% ถือเป็นอัตราส่วนที่สูง แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ใช้ได้ ฉะนั้น ที่มีปัญหาถือเป็นตัวเลขเพียงหยิบมือเดียวของผู้กู้  นายวิจิตรกล่าว

นายวิจิตรกล่าวอีกว่า ส่วนการยึดทรัพย์ หรือนำรายชื่อผู้ที่ไม่ยอมชำระหนี้ขึ้นบัญชีเครดิตบูโรนั้น


คนกลุ่มนี้คงไม่มีทรัพย์ให้ยึด และที่ว่าฟ้องผู้ค้ำประกันนั้น ส่วนใหญ่ผู้ค้ำก็คือพ่อแม่ ซึ่งก็ยากจนอยู่แล้ว แล้วจะไปยึดทรัพย์อะไรจากคนจน

ด้านนายเสริมเกียรติ ทัศนสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการ กยศ.กล่าวว่า

การจ้างสำนักงานทนายความ 129 แห่ง เป็นเพียงการว่าจ้างให้ฟ้องผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้เท่านั้น แต่หน้าที่ในการติดตามทวงหนี้ยังเป็นหน้าที่ของ กยศ.อยู่ โดย กยศ.ได้ทยอยฟ้องผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้ติดต่อกัน 4 ปี ครั้งแรกเมื่อปี 2546 จำนวน 3,800 คน เป็นการฟ้องผู้กู้ที่ครบชำระหนี้ในปี 2542 แต่ไม่มาติดต่อชำระหนี้เป็นเวลาติดต่อกัน 4 ปี นับจากนั้นก็ทยอยฟ้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี จนถึงปี 2550 จำนวนผู้ไม่มาติดต่อขอชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลัง กยศ.ใช้มาตรการฟ้องร้องก็ได้ผลน่าพอใจ

โดยมีผู้ถูกฟ้องติดต่อขอชำระหนี้ บางรายศาลขอให้ไปไกล่เกลี่ย ซึ่งตัวเลขของผู้ถูกฟ้องในปีแรกที่ยังไม่ติดต่อ กยศ.จนถึงขณะนี้มี 1,791 ราย ส่วนปีอื่นๆ ยังไม่มีข้อมูล และ กยศ.ยังไม่มีมาตรการอย่างอื่น ยังคงใช้แค่การติดตามทวงหนี้ธรรมดา เพราะยังไม่หมดอายุความ ซึ่งส่วนใหญ่อ้างว่าไม่มีเงิน และผู้ปกครองยากจน อย่างไรก็ตาม จากนี้อาจมีมาตรการแจ้งหน่วยงานต้นสังกัดให้ช่วยติดตามทวงหนี้ ในรายที่อ้างว่าไม่มีเงินจ่ายก็อาจจะสุ่มสำรวจเป็นรายๆ ว่าไม่มีเงิน หรือไม่มีงานทำจริงหรือไม่ ถ้าพบว่ามีงานทำแต่ไม่ยอมจ่าย ก็อาจนำข้อมูลไปใส่ในบัญชีเครดิตบูโร แต่ก็ยังเป็นเรื่องในอนาคต" นายเสริมเกียรติกล่าว

นายเสริมเกียรติกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กยศ.ยังไม่เคยจ้างบริษัทเอกชนติดตามทวงหนี้

เพราะเกรงว่าเป็นมาตรการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะกับนิสิตนักศึกษา แต่ในอนาคตมีแนวโน้มว่าอาจจะจ้างบริษัทเอกชนมาติดตามทวงหนี้ สำหรับผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้ และถูกฟ้องเป็นนิสิตนักศึกษาที่จบจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และเอกชน แต่ส่วนใหญ่จบจากสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าภาคอื่น

ส่วนที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า


ผู้กู้ไม่ชำระหนี้เพราะคิดว่าเป็นเงินให้ฟรีนั้น นายเสริมเกียรติกล่าวว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่สถานศึกษาจะหลอกผู้กู้ว่าเป็นเงินให้ฟรี เพราะต้องมีสัญญาเงินกู้ให้เซ็น และต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่โอนเข้าบัญชีของผู้กู้ทุกเดือน ฉะนั้น อาจเป็นข้ออ้างของผู้กู้ แต่หากมีกรณีดังกล่าวจริงจะขอให้ธนาคารกรุงไทยแจ้ง กยศ.เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีบ้างที่สถานศึกษาบางแห่งหลอกนักเรียนนักศึกษา

โดยเด็กไม่ได้ทำสัญญากู้ แต่สถานศึกษาส่งสัญญากู้เงินกองทุนมาให้ กยศ.กรณีดังกล่าว กยศ.ได้เพิกถอนอำนาจของสถานศึกษาในการพิจารณาคัดเลือก และลงนามในสัญญาไปแล้ว 4 แห่ง ในจำนวนนี้มีสถานศึกษา 1 แห่งที่ปิดกิจการไปแล้ว เหลือเพียง 3 แห่ง เป็น สถาบันอุดมศึกษาเอกชน 1 แห่ง และสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน 2 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีอาญา 2 แห่ง เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 1 แห่ง และอาชีวะเอกชนอีก 1 แห่ง" นายเสริมเกียรติกล่าว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์