ธ.กรุงเทพแนะจุดสังเกตเช็คช่วยชาติให้พิจารณา4 จุด

แบงก์กรุงเทพแนะวิธีสังเกตเช็คช่วยชาติ 2 พัน ให้ดู 4 จุด

ของจริงนำไปเบิกเงินสดที่ธนาคารได้ทุกสาขาหรือนำไปใช้จ่ายแทนเงินสดร้านที่ประกาศรับ ย้ำเปลี่ยนมือได้และมีค่าเหมือนเงินสด ต้องเก็บรักษาอย่างดีเพราะอายัดไม่ได้ ก.แรงงานรายงานครม.ออกเช็คให้ผู้ประกันตนแล้ว 5.5 ล. ที่เหลืออยู่ระหว่างแจ้งชื่อ ผอ.สบน.ชี้หากหดตัวเพิ่มจากที่คาดการณ์ ต้องขยายเพดานก่อหนี้

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ธนาคารกรุงเทพฯจำกัด (มหาชน) เผยแพร่วิธีสังเกตเช็คช่วยชาติที่รัฐบาลเตรียมนำแจกจ่ายผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับผู้มีรายได้เดือนละไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทวันที่ 26 มีนาคมนี้ว่า

มีวิธีสังเกตุ 4 จุดสำคัญ คือ1.ตัวอักษร "เช็คช่วยชาติ ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก" จะต้องพิมพ์เป็นลายนูนมีสีน้ำเงิน ดำ แดง และเหลืองเหลือบกัน 2.ตัวอักษร  ต้องพิมพ์เป็นตัวนูนสีทองและสีแดงเหลือบกัน 3.เมื่อนำเช็คขึ้นส่องกับไฟแบล๊คไลท์จะปรากฏตราสัญลักษณ์รูปดอกบัว สัญลักษณ์ของธนาคารกรุงเทพขนาดใหญ่ 1 ดอก ตรงกลางเช็ค และ4. ขอบด้านบนและด้านล่างของเช็คต้องมีรอยปรุทั้ง 2 ด้าน  เช็คดังกล่าวสามารถนำไปเบิกเงินสดที่ธนาคารกรุงเทพฯได้ทุกสาขา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือนำเช็คไปใช้จ่ายแทนเงินสดได้ที่ร้านค้ารับเช็คช่วยชาติ แต่ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวข้าราชการ พร้อมลงชื่อ-นามสกุลและเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ด้านหลังเช็คด้วย ทั้งนี้เช็คช่วยชาติจะมีอายุการใช้งาน 6 เดือนนับจากวันที่ระบุบนเช็คตามกฎหมาย ที่สำคัญเช็คดังกล่าวสามารถเปลี่ยนมือได้และมีค่าเหมือนเงินสด จึงไม่สามารถอายัดได้ ดังนั้นผู้รับเช็คต้องดูแลเก็บรักษาเป็นอย่างดี
 

ขณะที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันเดียวกันนั้น กระทรวงแรงงานรายงานแผนการจ่าย "เช็คช่วยชาติ" ตามโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ ให้ที่ประชุมรับทราบ

ในส่วนผู้ประกันตน  8.1 ล้านคน โดยมีผู้ประกันตนลงทะเบียน ณ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่กุรงเทพฯ และจังหวัดทั่วประเทศ ณ วันที่ 23 มีนาคม รวม 7,519,964 คน  ในจำนวนนี้มีการออกเช็คแล้ว 5,547,436 คน และอยู่ระหว่างแจ้งชื่อให้ธนาคารออกเช็คให้ 1,207,418 คน  มีการตัดรายชื่อบุคคลในส่วนผู้ประกันตนออก  8,552 คน เนื่องจากมีชื่อทำงานทั้งส่วนเอกชนและส่วนราชการ โดยกลุ่มนี้จะได้รับเช็คจากส่วนราชการ และที่เหลืออีก 756,558 คน อยู่ระหว่างการตรวจสอบรับรองยืนยันสิทธิ์
 

น.ส. วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวระหว่างร่วมเสวนา “รัฐได้คะแนน แรงงานนอกระบบได้หลักประกัน”ที่โรงแรมมารวยการ์เด้น

จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ว่า  ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับเงินตามโครงการเช็คช่วยชาติ  รัฐบาลควรช่วยจ่ายเป็นเงินตั้งต้นคนละ 2,000 บาทเข้าสมทบเงินกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 40 และให้ขยายความคุ้มครองสิทธิประโยชน์จาก 3 กรณีทุพพลภาพ ตาย และ คลอดบุตร เพิ่มเป็น 5 กรณี คือ เจ็บป่วยและชราภาพ  เนื่องจากแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ไม่มีรายได้พอจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน  เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นแรงงานอิสระรับงานไปทำที่บ้าน  และ ไม่มีรายได้ที่แน่นอน 

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน.กำลังตามดูกรอบความยั่งยืนทางการคลังในส่วนของหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

ที่ปัจจุบันกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 50% และหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน 15% อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจยังมีความผันผวน โดยปัจจัยที่จะมีผลต่อการต้องขยายเพดานก่อหนี้หรือไม่ จะดูจากแนวโน้มอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ หากปรับเพิ่มจากเดิมที่คาดว่าหดตัว 2% เป็นหดตัว 3% ก็ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่ต้องขยายเพดานก่อหนี้เพิ่มอีก 10% เป็น 60% เพื่อให้เพียงพอกับนโยบายการคลัง และมีช่องว่างเหลือสำหรับเหตุฉุกเฉิน ทั้งนี้ สบน.ได้หารือร่วมกับนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อยู่ตลอดเวลา หากเห็นว่าจำเป็นก็ขยายได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม. กรณีต้องขยายเพดานจริงๆ ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย เพราะต่างประเทศทำสูงกว่าเรามาก
นายพงษ์ภาณุ กล่าว
 
ทางด้านที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณากรอบการเจรจากู้เงิน และข้อตกลงระหว่างประเทศ รวม 6 ฉบับ โดยกรอบวงเงินที่จะขอกู้ประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่ากับ 7 หมื่นล้านบาท

โดยจะกู้จากธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นหรือไจก้าซึ่งครม.เป็นผู้เสนอ กว่าจะประชุมได้เวลาก็ล่วงเลยถึง 14.00น.เนื่องจากต้องรอให้ครบองค์ประชุมก่อน ยังต้องถกเถียงกันอีกร่วม1 ชั่วโมง เมื่อนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์  เสนอให้นำเรื่องด่วนที่ 2 และ 3 กรอบการเจรจาสัญญาเงินกู้ระหว่างประเทศและร่างสัญญาเงินกู้ระหว่างประเทศ และเรื่องที่เสนอใหม่ข้อตกลงระหว่างประเทศจำนวน 4 ฉบับ เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนเรื่องด่วนที่ 1 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 71,543 คน เป็นผู้เสนอ ทำให้ส.ส.พรรคเพื่อไทย(พท.)หลายคน ลุกขึ้นคัดค้าน  กล่าวหารัฐบาลไม่สนใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดการโต้เถียงกันไปมา ก่อนที่ที่ประชุมมีมติให้เลื่อนเรื่องด่วนดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาก่อนด้วย คะแนน 320 ต่อ 111 คะแนน งดออกเสียง  7 เสียง ไม่ลงคะแนน 7 เสียง  
 

จากนั้นนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า   การขอกู้เงินต่างประเทศครั้งนี้มีเหตุผลและความจำเป็นเนื่องเพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เนื่องจากการกู้งินภายในประเทศมีข้อจำกัดเรื่องเพดานการกู้เงิน นอกจากนี้คลังยังคาดว่าในปี 2552 รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินของภาครัฐจะมีการกู้เงินเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารสภาพคล่องและรองรับความผันผวนที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการเงินโลก และมีข้อจำกัดในการกู้เงินจากต่างประเทศทำให้ต้องหันมากู้เงินภายในประเทศมากขึ้น ทางรัฐบาลซึ่งมีต้นทุนที่ดีกว่าจึงเป็นผู้ไปกู้ต่างประเทศแทน
 

หลังจากการชี้แจงของนายกรณ์ที่ประชุมได้เปิดให้มีการอภิปรายโดยมี ส.ว.และส.ส.อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง 

นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช  กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยว่ากู้เงินจากต่างประเทศจะเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้รอดพ้นจากวิกฤต และรัฐบาลนี้ยังจะมีโครงการจะกู้อีก 1.4 ล้านล้านบาท ในอนาคต ขอเสนอให้ใช้แนวทางอื่นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3 ข้อ ดังนี้ 1.ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของภาครัฐ โดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธของกองทัพ 2.เร่งปฎิรูปการเมือง ฟื้นฟูประชาธิปไตยและหลักคุณธรรม ธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และ 3.ไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินเพื่อส่งเสริมภาคส่งออก เพราะประเทศคู่ค้าเดิมก็ไม่มีเงินที่จะซื้อของ ขอเรียกร้องให้ทุ่มเทเงินในการพัฒนาคนเพื่อสร้างอาชีพให้กับประชาชน โดยเน้นการใช้ปัญญาและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
 

นายกรณ์ ลุกขึ้นชี้แจงอีกรอบ ว่า เหตุผลที่รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินนี้ เป็นเพราะว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มถดถอย ทุกๆ 1 จีดีพี ที่ถดถอยจะกระทบต่อการจ้างงาน ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์