ตีแผ่ชีวิตทหารเหยื่อไฟใต้ ถูกทอดทิ้ง มาเยี่ยมแค่ตอนเจ็บ-ถ่ายรูปแล้วกลับ

ตีแผ่ชีวิตทหารเหยื่อไฟใต้ ถูกทอดทิ้ง มาเยี่ยมแค่ตอนเจ็บ-ถ่ายรูปแล้วกลับ


 ตีแผ่ชีวิตทหารเหยื่อไฟใต้ เผยถูกทอดทิ้ง มาเยี่ยมแค่ตอนเจ็บ-ถ่ายรูปแล้วกลับ บางครั้งถ่ายรูปกับป้ายมอบเงิน แต่ไม่ได้เงิน ชี้ทหารควรได้รับการเยียวยาทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจ

วันนี้ (29 มกราคม) อาจารย์รอฮานิ เจาะอาแซ หัวหน้าคณะวิจัย "ทหารและครอบครัวที่ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ ตกสำรวจจากระบบเยียวยา" ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับทหารไทยที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ภาคใต้ แต่กลับไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร...

โดย อาจารย์รอฮานิ เผยว่า เหตุการณ์ชายแดนภาคใต้เริ่มปะทุมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ซึ่งตอนนี้ผ่านมากว่า 100 เดือน หรือราว 9 ปี แล้ว พบเหตุความรุนแรงกว่า 1.1 หมื่นครั้ง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 1.6 หมื่นราย หนึ่งในสามของผู้เคราะห์ร้ายประมาณ 5,400 คนนั้น เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งครู ตำรวจ และทหาร ส่วนมากเป็นคนต่างถิ่น ต่างภูมิภาค ที่อาสามาทำงานในหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัย และต้องกลับไปพักรักษาตัวยังภูมิลำเนาเดิม หลังจากได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบ

สำหรับโครงการการเยี่ยมเยียนเยียวยา เพื่อสร้างยุทธศาสตร์สมานฉันท์นั้น อาจารย์รอฮานิ กล่าวว่า เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ นักเยียวยาของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และกรมแพทย์ทหารเรือ ที่ได้เดินทางไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อเยี่ยมเยียนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อติดตามคุณภาพชีวิตภายหลังประสบเหตุจนพิการ และความต่อเนื่องของการช่วยเหลือเยียวยาของหน่วยงานรัฐ

หัวหน้าคณะวิจัยทหารและครอบครัวที่ได้รับบาดเจ็บฯ กล่าวต่อว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประเมินติดตามคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะขาดข้อมูลของกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงหมายเลขโทรศัพท์ สถานที่ติดต่อ เป็นต้น โดยจากการกำหนดเป้าการเยี่ยมเยียนไว้ที่ 100 คน แต่สามารถเข้าถึงและเยี่ยมได้เพียง 21 รายเท่านั้น ซึ่งปัญหาดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดระบบการส่งต่อ ดูแลติดตามที่ดี

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามไปยังทหารที่ได้รับบาดเจ็บ มีจำนวนไม่น้อยระบุว่า หลังจากที่บาดเจ็บและรักษาตัว จะมีหน่วยงานเข้ามาเยี่ยมเยียนถึงสถานพยาบาล แต่ก็มาในรูปแบบที่มอบเงินเยียวยา และถ่ายรูป จากนั้นก็กลับกันไปทันที โดยนักวิชาการจากโครงการการเยี่ยมเยียนเยียวยา เพื่อสร้างยุทธศาสตร์สมานฉันท์ เป็นกลุ่มแรกที่มาเยี่ยมเยียนพวกเขาถึงบ้าน หลังจากที่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งไปเป็นเวลานาน ซึ่งเหล่าทหารผู้พิการและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง
 
ทหารบางคน ก็เปิดเผยว่า มีบางหน่วยงานโทรมาหา แต่ก็พูดแค่เรื่องเงินเท่านั้น ไม่เคยถามเรื่องสุขภาพ หรือสนใจเรื่องการดูแลจิตใจเลย บางหน่วยก็เอาของมาเยี่ยม จากนั้นก็เอาป้ายมอบเงินมาถ่ายรูป บางครั้งมีแต่ป้ายเฉย ๆ ยังไม่ได้เงินเลยก็มี
 
จากปัญหาดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ควรมุ่งเน้นการดูแลคุณภาพชีวิตของทหารและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บให้ครอบคลุม ตั้งแต่เรื่องสุขภาพกาย ใจ สังคม และการสร้างอาชีพ รวมถึงคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อไม่ให้ทหารตกอยู่ในสภาวะถูกทอดทิ้ง โดยเฉพาะทหารที่ไม่ได้รับการรับรองหรือจดทะเบียบเป็นผู้พิการ ซึ่งเมื่อปลดประจำการแล้ว ก็จะมีสถานะเป็นพลเรือนเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ทำให้ไม่มีสิทธิ์ในการขอรับการเยียวยาเช่นเดียวกับพลทหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการ หรือข้าราชการ ทหาร ตำรวจ

อาจารย์รอฮานิ เปิดเผยว่า การไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ เป็นสาเหตุที่ทำให้ทหารบาดเจ็บไม่ได้รับการเยียวยาตามที่ควรจะได้รับ ถึงแม้ว่าจะมีการปฐมนิเทศก่อนที่ทหารจะเข้าประจำการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เหล่าทหารก็ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว และไม่มีใครใส่ใจมากนัก เพราะไม่คิดว่าตนเองจะต้องเป็นผู้ประสบเหตุ ทั้งนี้ เมื่อถึงคราวเกิดเหตุ จึงไม่รู้จะติดต่อกับใคร หรือดำเนินการอย่างไร

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ทหารที่ได้รับบาดเจ็บจนร่างกายพิการ ควรได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง และต่อเนื่อง เท่าเทียม และยั่งยืน ทั้งสุขภาพกาย และจิตใจ ส่งเสริมให้พวกเขาได้ยืนหยัดอย่างมีศักดิ์ศรีด้วยการพึ่งพาตนเอง สามารถดูแลตนเองและประกอบอาชีพที่เหมาะสมได้ พร้อมทั้งกระตุ้นให้สังคม หรือชุมชนซึ่งทหารที่ได้รับผลกระทบพักรักษาตัวอยู่ เกิดความภูมิใจในเพื่อนบ้านของตนเอง จนสามารถดูแลให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์