ตะลึง! พบลูกปัด5 จว.ภาคใต้ตอนกลาง เป็นแหล่งร่องรอยอารยธรรมโลก วอนหยุดลักลอบขาย ร่วมกันอนุรักษ์


นักโบราณคดีเผยร่องรอยอารยธรรมโลกในพื้นที่ 5 จว.ภาคใต้ตอนกลาง หลังขุดพบ "ลูกปัด" ทำด้วยหิน แก้วโมเสค ทองคำ พร้อมวัตถุดิบแเละเครื่องมือผลิตอีกมากมาย ผู้เชี่ยวชาญระบุบางชิ้นคล้ายงานฝีมือชาวกรีก วอนหยุดลักลอบขุดไปขาย ให้ร่วมกันอนุรักษ์เป็นมรดกวัฒนธรรมทรงคุณค่า

ผู้สื่อข่าวภูมิภาค "มติชน" รายงานเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ว่า นักโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้ความสนใจกับการค้นพบลูกปัดโบราณ ชิ้นส่วนวัตถุดิบในการผลิตลูกปัด รวมถึงเครื่องประดับที่ทำด้วยทองคำ เหรียญเงินตราของชาติต่างๆ ในพื้นที่ จ.กระบี่ ระนอง พังงา ชุมพร และสุราษฎร์ธานี หลักฐานเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่า พื้นที่ตอนกลางของภาคใต้คือแหล่งอารยธรรมของโลกในยุค 2,000 ปีก่อน โดยเป็นศูนย์กลางการค้า ระหว่างซีกโลกตะวันตกกับซีกโลกตะวันออก และยังเป็นแหล่งรวมความรู้ชั้นสูงในการผลิตลูกปัดและเครื่องประดับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่ จ.กระบี่ ค้นพบลูกปัดและเครื่องประดับเป็นจำนวนมากบริเวณ ต.คลองท่อมใต้ อ.คลองท่อม โดยลูกปัดที่พบบางชิ้นมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนที่ใดในโลก ทำด้วยแก้วโมเสคทรงกลม รูปหน้าคน ชาวกระบี่เรียกว่า "สุริยเทพคลองท่อม" หรือหน้าอินเดียนแดง

นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้เชี่ยวชาญลูกปัดให้ความเห็นว่า สุริยเทพคลองท่อมสันนิษฐานว่าผลิตขึ้นสมัยกรีก-โรมัน อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 4-5 (ราว พ.ศ.400-500) ที่เมืองอเล็กซานเดรีย ตั้งอยู่ปากแม่น้ำไนล์ชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน ประเทศอียิปต์ การค้นพบลูกปัดสุริยเทพคลองท่อมสร้างความประหลาดใจให้กับวงการลูกปัดโลก เพราะแม้แต่ในเมืองอเล็กซานเดรียหรือที่ไหนๆ ในโลกยังไม่มีรายงานการค้นพบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่คลองท่อม ยังพบลูกปัดแก้วโมเสคลายธงชาติ มีสีสันที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักโบราณคดี นอกจากนี้ยังพบแท่นหินมีร่องเป็นรู เป็นหลุม และลูกถ้วย อาจเป็นรางขัดลูกปัด แผ่นทอง ก้อนและขดม้วนโลหะ ทั้งเงิน ทองแดง ดีบุก แสดงถึงความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการผลิตลูกปัดของชาวคลองท่อม ณ เวลานั้น ที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง

ส่วนที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา มีการค้นพบลูกปัดลักษณะพิเศษ รูปลักษณ์คล้ายดวงตามนุษย์ วงการลูกปัดระดับโลก ตั้งชื่อว่า "ลูกปัดตาตะกั่วป่า" (Takuapa Eye Bead) ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

ที่ จ.ระนอง มีการค้นพบหลักฐานประวัติศาสตร์ยุคโบราณ ในพื้นที่ บ้านบางกล้วยนอก ต.นาคา อ.กะเปอร์ และหมู่บ้านภูเขาทอง ต.กำพวน อ.สุขสำราญ เป็นลูกปัดแก้วโมเสค ลูกปัดคล้ายทุ่นสีฟ้ามีลายพาดกลางสีขาวดำหรือแดง ลูกปัดทองคำและยังพบตราประทับ หัวแหวน มีทั้งเป็นหยกแกะรูปสิงห์ยกขาหน้า บางชิ้นเป็นหินสีขาวแกะเป็นรูปหอยสังข์ รูปตัวไก่ ม้าและคนขี่ม้า ส่วนใหญ่เป็นศิลปะยุโรปและอินเดียโบราณ

สำหรับที่ จ.ชุมพร ค้นพบลูกปัดและแหล่งผลิตลูกปัดในพื้นที่เขาสามแก้ว ต.นาชะอัง อ.เมืองชุมพร เป็นลูกปัดแก้วเขียนลายและลูกปัดทองคำ ส่วนบริเวณบนภูเขา ในพื้นที่ อ.พะโต๊ะ ขุดพบชิ้นส่วนกลองมโหระทึกปะปนกับลูกปัดแก้วสีต่างๆ

และที่ จ.สุราษฎร์ธานี พบแหล่งผลิตในพื้นที่ อ.ไชยา อ.ท่าชนะ เป็นลูกปัดโมเสคหลายรูปทรง ลวดลายและสีสันสวยงาม รวมทั้งลูกปัดเม็ดทองคำเล็กๆ เหมือนไข่ปลาเรียงกัน  

นพ.บัญชาให้ข้อสังเกตว่า การค้นพบลูกปัดทองคำปะปนกับลูกปัดชนิดอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงทักษะของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ที่สามารถผลิตลูกปัดผสมผสานกับการนำทองคำมาหล่อ แกะสลัก เชื่อมและถักร้อย อีกทั้งลักษณะการผลิตทองคำคล้ายคลึงกับงานทองของชาวกรีก (Hellenistic)

ร.อ.บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดีระดับชำนาญงานพิเศษ สำนักงานศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต กล่าวว่า ลูกปัดที่ค้นพบภายใน บ้านเหนือ หมู่ 1 ต.คลองท่อมใต้ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ นับเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวิชาการ ทางสำนักงานศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต เข้าไปขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อปี พ.ศ.2551 พบเป็นแหล่งลูกปัด ก้อนแก้วที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนการผลิตเป็นจำนวนมาก และไม่ได้พบลูกปัดเพียงอย่างเดียวแต่ยังพบโบราณวัตถุอื่นๆ อีกด้วย

"สันนิษฐานว่า ลูกปัดดังกล่าวมีอายุไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี เนื่องจากสมัยก่อนชาวคลองท่อมติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยพบหลักฐานการค้าขายบนแผ่นหินคาร์เนเลียนซึ่งสลักเป็นรูปชาวโรมัน ลูกปัดดังกล่าวน่าจะมาจากการค้าขายกับชาวอินเดียเพราะข้อความเป็นภาษาทมิฬปรากฏให้เห็น ดังนั้น ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเห็นความสำคัญและเกิดจิตสำนึกว่าการขุดไปขายในที่สุด ส่งผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ" ร.อ.บุณยฤทธิ์กล่าว

ร.อ.บุณยฤทธิ์กล่าวว่า ในฐานะนักโบราณคดีอยากเห็นพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เป็นแหล่งเรียนรู้ อยากเห็นชุมนุมได้รับผลประโยชน์ต่อเนื่อง หากลักลอบขุดแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนจะสูญหายไป ต้องการให้ทุกฝ่ายเกิดความตระหนักในการอนุรักษ์ หน่วยราชการต้องช่วยกันผลักดันประการสำคัญชุมชนเกิดความรู้สึกว่าลูกปัดเป็นมรดกทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม
 
*******************************************

ไขปริศนา "ลูกปัด" เครื่องประดับยุคโบราณ

เชื่อกันว่ามนุษย์ผลิต ลูกปัด (Bead)  ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ บ่งชี้ถึงสถานะทางสังคม เป็นเครื่องรางของขลัง สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนพิธีกรรม รวมทั้งเป็นสินค้า

นักโบราณคดีพบร่องรอยลูกปัดที่มีความเก่าแก่ราว 45,000 ปี ยุคแรกๆ ทำจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น เปลือกไข่นกกระจอกเทศ ดินปั้น เมล็ดพืช เปลือกหอย กระดูก หรือปะการัง ต่อมามนุษย์มีการพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือ มีการนำเทคนิกด้านการเผา หลอม รวมทั้งความรู้ด้านเคมีและศิลปะ มาใช้ในการผลิต ทำให้ลูกปัดมีสีสันสวยงาม ทนทาน อย่าง ลูกปัดแก้วน้ำเคลือบ ผลิตขึ้นในอียิปต์ราว 4,500 ปีก่อน เป็นลูกปัดเนื้อทรายเคลือบด้วยเนื้อแก้วสีฟ้า โดยใช้เทคนิกการหลอมผิวทรายชั้นนอก

ลูกปัดที่ทำจากหิน มีลวดลายสีสัน ต้องใช้เทคนิกพิเศษในการใช้สารผสมและการเผาไฟทำปฎิกริยาเปลี่ยนสีบนผิวลูกปัด พบในยุคเมโสโปเตเมียและแถบลุ่มแม่น้ำสินธุ เมื่อราว 4,500-3,500 ปี ลูกปัดหินเขียนลายมีมูลค่าสูงและสงวนไว้สำหรับชนชั้นปกครองสวมใส่

ส่วนลูกปัดที่ผลิตจากจีน ในยุคโบราณ มีลักษณะเหมือนลูกปัดแก้วตา ใช้เทคนิกซับซ้อน ทำจากลูกปัดแก้วสีเดียวที่นำแผ่นแก้วมาหลอมรูปกลมซ้อนทับทำให้เกิดลายคล้ายดวงตาแล้วนำมาปะติดกับก้อนแก้ว
สำหรับลูกปัดแก้วนั้น หลังจากมนุษย์รู้จักวิธีการหลอมทรายเป็นแก้ว ได้พัฒนาเทคนิกใส่ผงแร่ให้เกิดสีสันสวยงาม จากนั้นทำลวดลาย ม้วน พัน พับ ดึง หลอมและหล่อ ตลอดจนตัดแปะกระทั่งกลายเป็นลูกปัดแก้วโมเสกในสมัยโรมันและไบเซนไทน์ ขณะที่ทองคำถูกนำมาทำเป็นลูกปัดด้วยรูปแบบหลากหลายในแทบทุกอารยธรรมโบราณ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์