ดอกมะลิ ราคาพุ่ง…ต้อนรับวันแม่แห่งชาติ

สัญลักษณ์ที่คนส่วนใหญ่จะนำมาใช้แสดงถึงความรัก ความกตัญญูที่มีต่อแม่ นั่นคือ “ดอกมะลิ”


วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันแม่แห่งชาติ ประชาชนส่วนใหญ่ต่างก็รำลึกถึงพระคุณของแม่ แสดงความกตัญญู และความรักที่มีต่อแม่ และหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะนำมาใช้แสดงถึงความรัก ความกตัญญูที่มีต่อแม่ นั่นคือ “ดอกมะลิ” ซึ่งถือได้ว่า ดอกมะลินั้น จัดเป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนในวันแม่ และในช่วงวันแม่แห่งชาติของทุกปี ทำให้ความต้องการดอกมะลิสดมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วงเวลาปกติ ส่งผลให้ราคาดอกมะลิสดเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว                           



สำหรับปี 2552 ในช่วงวันแม่แห่งชาติที่กำลังจะมาถึงนี้ คาดว่า ราคาดอกมะลิพุ่งสูงขึ้นถึงลิตรละ 400-600 บาท หรืออาจจะสูงถึงลิตรละ 600-800 บาท หากเข้าใกล้ช่วงวันแม่มากขึ้น ซึ่งมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีราคาลิตรละ 400 บาทเกษตรกรมีรายได้จากการขายดอกมะลิในช่วงวันแม่เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท จากปกติมีรายได้เฉลี่ยวันละ 1,000 บาท



โดยสาเหตุที่ทำให้ราคาดอกมะลิในช่วงวันแม่แห่งชาติในปี 2552 นี้ มีราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติเกือบ 2 เท่า คือ อยู่ระหว่างช่วงวันแม่แห่งชาติ สภาพดิน ฟ้า อากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ต้นดอกมะลิไม่ออกดอก และเกษตรกรบางรายลดจำนวนปลูกดอกมะลิลง ทำให้ราคาดอกมะลิในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลให้มีพ่อค้า และแม่ค้าบางรายมีการปรับกลยุทธ์ และหันมาทำธุรกิจค้าขายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดอกมะลิในวันแม่เพิ่มมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ดอกมะลิที่มีขาย และเป็นที่นิยมในช่วงวันแม่ ได้แก่ เข็มกลัดดอกมะลิ กระเช้าดอกมะลิ กระถางดอกมะลิ บัตรอวยพรดอกมะลิ ต้นดอกมะลิสดกระถาง เป็นต้น


นอกจากความต้องการดอกมะลิภายในประเทศแล้ว ในปัจจุบันไทยมีการส่งออกดอกมะลิทั้งในรูปของดอกมะลิ ต้นมะลิและในรูปของพวงมาลัย โดยมูลค่าการส่งออกดอกมะลิในช่วง2-3 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 2 ล้านบาท โดยการส่งออกเกือบทั้งหมดอยู่ในรูปของพวงมาลัย กล่าวคือ ส่งออกในรูปพวงมาลัยร้อยละ 85.0 ส่งออกในรูปของดอกมะลิร้อยละ 10.0 และส่งออกในรูปของต้นมะลิร้อยละ 5.0



โดยตลาดพวงมาลัยที่สำคัญคือ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ส่วนตลาดของดอกมะลิ และต้นมะลิที่สำคัญ คือ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ และเบลเยี่ยม เป็นต้น สำหรับตลาดใหม่ที่น่าจับตามอง ได้แก่ มาเลเซีย สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ สหราชอาณาจักร เป็นต้น โดยประเทศที่นำเข้าดอกมะลิจากไทยเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในงานต่าง ๆ เช่น การนำพวงมาลัยดอกมะลิมากราบไหว้พระในวันสำคัญทางศาสนา นอกจากนี้ ยังมีการนำเอาดอกมะลิมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น การผลิตเป็นสบู่ หรือการผลิตเป็นเครื่องหอมในร้านสปาต่างๆ เป็นต้น อีกทั้งชาวต่างชาติบางกลุ่มที่ชื่นชอบดอกมะลิ เนื่องด้วยดอกมะลิมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว ที่สำคัญ คือ มีกลิ่นที่หอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และรูปทรงที่สวยงาม จึงนิยมซื้อต้นมะลิไปปลูก และประดับตามอาคาร บ้านเรือนอีกด้วย


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์