ช็อค!! วัตถุโบราณล้ำค่าอายุกว่าพันปีหายเกือบ100ชิ้น

"กรมศิลป์" โดนล้วงตับ โจรบุกยกเค้าโบราณวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น 91 รายการ แต่ละชิ้นอายุไม่ต่ำกว่า 1 พันปี เร่งประสาน ตร.ตามสมบัติชาติคืน วอนปชช.พบเห็นแจ้งเบาะแส

นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ว่า

ได้รับรายงานจากนายเขมชาติ เทพไชย รองอธิบดีกรมศิลปากรว่าเมื่อวันที่ 4-5 ธันวาคมที่ผ่านมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น ถูกโจรกรรมโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากถึง 91 รายการ แบ่งเป็น พระพิมพ์ดินเผาจากกรุพระธาตุนาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม จำนวน 55 รายการ พระพิมพ์ดินเผา จากเมืองฟ้าแดดสงยาง จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 12 รายการ พระพุทธรูปสำริด สมัยทวาราวดีประทับยืน ปางเสด็จจากดาวดึงส์ จำนวน 11 รายการ เทวรูปสำริดสมัยลพบุรี จำนวน 7 รายการ พระโพธิสัตว์สำริดสมัยลพบุรี จำนวน 5 รายการ และแผ่นทองคำจากกรุพระธาตุนาดูน จำนวน 2 รายการ ซึ่งแต่ละรายการมีอายุไม่ต่ำกว่า1, 000 ปี


นายเกรียงไกร กล่าวว่า

ขณะนี้ทางพิพิธภัณฑ์ได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อจับกุมคนร้ายและติดตามโบราณวัตถุของชาติคืนมาแล้ว ซึ่งในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่า คนร้ายจะแฝงตัวเข้ามาอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ก่อนที่จะปิดทำการ หลังจากที่พิพิธภัณฑ์ปิดทำการแล้วก็ลงมือโจรกรรมโบราณวัตถุต่างๆ ในขณะเดียวกัน ทางกรมศิลปากร ก็จะทำการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดด้วย นอกจากนี้ตนจะเรียกหัวหน้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติขอนแก่นเข้าประชุมด่วนเพื่อเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะหามาตรการป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวกับพิพิธภัณฑสถานทั่วประเทศอีกด้วย

ในเบื้องต้นผมได้ประชุมด่วนเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว เราจะต้องรื้อมาตรการการดูแลพิพิธภัณฑ์เสียใหม่ โดยเฉพาะการป้องกันการโจรกรรมโบราณวัตถุ เช่น การติดกล้องวงจรปิด เป็นต้น รวมทั้งจะต้องมีการประชุมหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ เพื่อระดมความคิดและร่วมกันหาแนวทางแก้ไข เนื่องจากแต่ละแห่งอยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน มีโบราณวัตถุที่ต่างกันด้วย อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากร จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในการติดตามโบราณวัตถุของชาติคืน หากประชาชนท่านไหนพบเห็นโบราณวัตถุ หรือบุคคลต้องสงสัยสามารถแจ้งมายังกรมศิลปากรได้ทันที”อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า

สำหรับพระพิมพ์ดินเผาพระธาตุนาดูน ถูกขุดพบเมื่อปี 2522 เป็นพระพิมพ์ดินเผาฝีมือช่างประจำราชสำนัก มีอายุอยู่ในราว พุทธศตวรรษที่ 12-13 (หรือประมาณ 1300 ปี) เนื้อพิมพ์แข็งแกร่งมาก พระพิมพ์บางองค์กลายเป็นเนื้อหิน สีเนื้อพิมพ์มี 5 สี คือ สีหิน (น้ำตาลแก่) สีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองมันปู สีชมพู (มีน้อยมาก) สีแดงหินทราย สีขาวนวล (สีเทาอ่อน) ในพระพิมพ์เกือบทุกพิมพ์ จะมีรูปสถูปจำลองปรากฏอยู่เสมอ และเป็นพระพิมพ์เล่าเรื่องพุทธประวัติที่มีความหมายอยู่ในตัว พระพิมพ์ดินเผาที่พบได้ในบริเวณอ.นาดูน หรือนครจำปาศรีมีไม่น้อยกว่า 40 พิมพ์ ความสำคัญของพระพิมพ์ดินเผาของกรุพระบรมธาตุนาดูนอยู่ในรายละเอียดในแต่ละพิมพ์แต่ละชิ้น ทั้งยังบ่งบอกถึงคติความเชื่อในลัทธิศาสนาที่แฝงอยู่



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์