ชี้ภัยพิบัติไทย-อินโด-ปินส์เหตุโลกร้อน

คมชัดลึก : ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมโลกร้อนนัดแรก ก่อนส่งไม้ต่อเวทีใหญ่ที่แอฟิกาใต้ ปลายปีนี้ ย้ำต้องจับจุดแข็งภาคเกษตร ดินรับการปรับตัว ส่วนเอ็นจีโอ เรียกร้องให้อาเซียนแสดงความเป็นผู้นำในเวทีเจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ ยกภัยพิบัติในไทย อินโดนีเซีย ฟิลลิปินส์ ผลพวงจากโลกร้อน

 เลขาธิการสผ.กล่าวว่า สำหรับไทยยังเน้นจุดยืนเดิมคือการสนับสนุนพิธีสารเกียวโต ให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องรับผิดชอบในการลดก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกันไทยยังพร้อมลดก๊าซภายในประเทศเองแบบไม่มีเงื่อนไข และอยู่ภายใต้ความเหมาะสมของประเทศตัวเอง พร้อมจะเปิดรับการช่วยเหลือทางด้านการเงินและเทคโนโลยีสำหรับการปรับตัว ซึ่งล่าสุดสผ.ได้ส่งราย งานแห่งชาติฉบับที่ 2 ให้กับสำนักงานอนุสัญญาฯไปแล้ว โดยพบว่าจากการคาดการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วง 10 ปีที่เดิมเคยประเมินว่าจะมีสัดส่วนแบบก้าวกระโดดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง โดยตัวเลขการปล่อยก๊าซขณะที่อยู่ 229 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี หรือ 0.1% ของอัตราการปล่อยของโลกเท่านั้น


“สำหรับการเตรียมความพร้อมภายในประเทศ ก่อนพิธีสารเกียวโตฉบับแรกจะสิ้นสุดลงในปี 2555 คาดว่าภาคพลังงานจะเป็นกลุ่มแรกๆที่ต้องลดก๊าซเรือนกระจก เพราะขณะนี้ 70% ของการปลดปล่อยมาจากส่วนนี้ ขณะที่ภาคเกษตร จะเป็นจุดแข็งที่รัฐจะเร่งให้เกษตรกรมีการปรับตัวรองรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ พร้อมกันนี้ สผ.กำลังทบทวนแผนแม่บทโลกร้อน ตามข้อเสนอของภาคประชาชนที่ต้องการให้มีแผนปฏิบัติการเป็นรายจังหวัดด้วย ทั้งนี้หลังการจัดเวที 4 ภูมิภาคแล้วจึงจะสรุปเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ต่อไป” นางนิศากร ระบุ


วันเดียวกันที่หน้าองค์การสหประชาชาติ นักกิจกรรมรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศจากกรีนพีช อ็อกแฟรม และกองทุนสัตว์ป่าโลก สวมชุดกันหนาว ชุดกันฝน และชุดชายหาดเพื่อแสดงถึงความโกลาหลของสภาพภูมิอากาศที่กำลังสร้างผลกระทบอันรุนแรงไปทั่วทั้งภูมิภาคในขณะนี้ และได้พบกับนางคริสเตียน่า ฟิกูเอเรส เลขาธิการบริหารของกรอบอนุสัญญาสหประชา ชาติว่าด้วยการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเรียกร้องให้เกิดข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศที่มุ่งมั่นจากรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลก ในนามของประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความล่อ แหลมมากที่สุดและมีการรับมือน้อยที่สุดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


“เราต้องการส่งสาส์นถึงผู้นำประเทศ โดยเฉพาะผู้แทนจากประเทศในกลุ่มอาเซียน ว่าข้อตกลงที่เป็นธรรม มุ่งมั่นและมีผบังคับใช้ทางกฎหมาย เป็นสิ่งจำเป็นต่อความอยู่รอดของประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยต้องการเห็นอาเซียนควรมีจุดยืนร่วมที่เข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียวเพื่อยกระดับการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เร่งรัดและจริงจังมากขึ้น ” เซลดา โซริยาโน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว


ด้าน ชาลิมาร์ ไวทัน ผู้ประสานงานด้านนโยบายและงานรณรงค์เอเชียตะวันออก จากอ็อกซ์แฟม กล่าวว่า ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา อากาศในฤดูร้อนของ ไทยกลับมีอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ อุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ ก็ส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่า 2 ล้านคน ช่วงเดือนเดียวกันนี้ได้เกิดภัยพิบัติทางตอนกลางและตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนนับหมื่นคน ในประเทศอินโดนีเซีย ปัญหาอุทกภัยยังส่งผลให้ประชาชนหลายพันคนต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน ทั้งนี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มักได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สุดขั้ว และมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ผู้แทนอาเซียนจะต้องรับประกันด้วยว่าจะต้องมีการให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรทั้งหลายที่จำเป็นต่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพราะนี่เป็นเรื่องเร่งด่วน และต้องเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด


“กลุ่มเอ็นจีโอ ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่ออาเซียนระหว่างการประชุมที่กรุงเทพฯ หนึ่งในข้อเสนอต่างๆ คือการรับประกันว่าคณะกรรมการกองทุนเพื่อการปรับตัวที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ นั้นจะต้องประกอบด้วยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก ทั้งเรียกร้องให้อาเซียนผลักดันในเรื่องเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกโดยที่การปล่อยก๊าซจะเพิ่มสูงสุดในปี 2558 และลดลงหลังจากนั้น และเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี 2563 และจะต้องลดลงอย่างน้อยร้อยละ 95 ภายในปี 2593 ให้ได้ต่ำกว่าระดับในช่วงปีฐาน 2533 ” ผู้แทนจากกองทุนสัตว์ป่าโลก ระบุ



เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์