ชี้ครอบครัวไทย 1 ใน 4 ชอบใช้กำลัง

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. นางจิตราภา สุนทรพิพิธ รอง ผอ.สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า


เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการรายงานข่าวความรุนแรงในครอบครัวของสื่อมวลชน โดยไม่ขัดต่อมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น สำนักงานกิจการสตรีฯ จึงรับเป็นเจ้าภาพในการเชิญผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อ องค์กรพัฒนาเอกชน นักกฎหมาย และนักวิชาการ ร่วมหารือในการจัดทำคู่มือการรายงานข่าวความรุนแรงในครอบครัวขึ้น ในวันที่ 23 พ.ย.นี้ โดยจะพยายามทำคู่มือให้แล้วเสร็จและเผยแพร่ได้ในวันที่ 25 พ.ย. ซึ่งเป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เพื่อชูเป็นประเด็นใหญ่ของการรณรงค์ในปีนี้

สำหรับในส่วนของการพิจารณาแก้ไขมาตรา 9 ตามที่สื่อมวลชนสายอาชญากรรมเสนอมาว่าโทษสูงเกินไปนั้น คงต้องรอดูสักระยะว่าเกิดปัญหาอุปสรรคในทางปฏิบัติหรือไม่อย่างไร เพราะกฎหมายเพิ่งบังคับใช้และจากงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2550

ศ.นพ. รณชัย คงสกลธ์ หัวหน้าโครงการหน่วยจัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า รพ.รามาธิบดีได้สำรวจปัญหาความรุนแรงในครอบครัว กับชุมชนรอบ รพ.รามาธิบดี จำนวน 7 ชุมชน 580 ครอบครัว พบความรุนแรงในครอบครัวถึง 27.2% หรือคิดเป็น 1 ใน 4 และเมื่อสำรวจลึกลงไปพบว่า ครอบครัวที่มีการดื่มสุรา มีโอกาสเกิดความรุนแรงในครอบครัวถึง 3.84 เท่า เมื่อเทียบกับครอบครัวที่ไม่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การติดตามสอบถามพบเด็กและผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรง ยังคงถูกกระทำจากเพื่อนและคนใกล้ชิดมากที่สุด 77 ราย จากสามี 51 ราย จากสมาชิกในครอบครัว 35 ราย คนรู้จัก 34 ราย พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง 12 ราย พ่อแม่ 7 ราย สาเหตุเกิดจากนอกใจ/หึงหวง/ทะเลาะ 54 ราย ปัญหาครอบครัว 42 ราย เมาสุรา/ติดสารเสพติด 41 ราย ปัญหาเศรษฐกิจ 40 ราย เจตนาล่อลวง/บังคับ 33 ราย สื่อลามก 12 ราย โดยเด็กถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุด ส่วนผู้ใหญ่จะถูกกระทำความรุนแรงด้านจิตใจมากที่สุด.


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์