ชี้คนไทยสะเทือนใจชีวิตเคอิโงะเหมือนคู่กรรม2

ผู้สื่อข่าวจ.พิจิตรรายงาน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ถึงความคืบหน้ากรณี ดช.เคอิโงะ ซาโต

ลูกครึ่งญี่ปุ่นไทย ที่ตามหา นายคัทซูมิ ซาโต ผู้เป็นพ่อชาวญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุดได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทยว่า พบนายคัทซูมิแล้ว แต่ยังไม่พร้อมจะไปพบ ดช.เคอิโงะ ทั้งนี้ นายคัทซูมิจะติดต่อโทรศัพท์พูดคุยกับลูกชายเป็นการส่วนตัว


วันนี้ ดช.เคอิโงะ เดินทางไปโรงเรียนอนุบาลเมือง ท่าหลวงสงเคราะห์ อ.เมืองพิจิตร ในวันเปิดเทอมวันแรก

โดยใช้รถจักยานที่ได้รับการบริจาคของเหล่ากาชาดจังหวัดพิจิตรปั่นไปโรงเรียนแต่เช้า ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสร่าเริง
นางพัชรี แทนปั้น ครูประจำชั้นคนใหม่ กล่าวว่า ภูมิใจที่สังคมให้ความสำคัญของ ดช.เคอิโงะ ที่มีความตั้งใจอยากพบพ่อ ในฐานะครูประจำชั้นจะดูแล ดช.เคอิโงะ ให้ดีที่สุดทั้งการเรียน และชีวิตความเป็นอยู่
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.พูลสิทธิ ศิติสาร นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมและป้องกันระดับ 9 สำนักงานสาธารณสุขจ.พิจิตร

พร้อมนักจิตวิทยาเข้าไปบำบัดฟื้นฟู ดูแล เยียวยา สภาพจิตใจ และสิ่งแวดล้อมของ ด.ช.เคอิโงะ ซาโต จากการตรวจสภาพร่างกายพบดช.เคอิโงะมีสภาพจิตใจดีขึ้นยิ้มแย้มแจ่มใสร่าเริงตลอดเวลา ร่างกายสะอาด สมองดีกว่าคนปกติทั่วไป  ไอคิวเกินหนึ่งร้อย การเจริญเติบโตของร่างกายเป็นปกติ 

นพ.พูลสิทธิกล่าวว่า ขณะนี้ เป็นห่วงเรื่องการปรับตัวเปลี่ยนแปลงของ ด.ช.เคอิโงะ เพราะมีหลายหน่วยงานเข้ามาดูแลเด็ก เกรงทำให้สับสนพักผ่อนไม่เพียงพอ

นายสุรเสน  ทั่งทอง  ผู้อำนวยการพื้นที่การศึกษา(สพท.) พิจิตรเขต 1 เชิญ นางปัทมา  จตุพิศ ผู้เป็นป้า และ ด.ช.เคอิโงะ  ซาโต มารับทราบวัตถุประสงค์ข้อระเบียบการสนับสนุนทางการศึกษา และระเบียบการจัดการใช้จ่ายเงิน โดย สพท.พิจิตรเขต 1 จะสนับสนุนอุปกรณ์การเรียน ค่าเล่าเรียน ชุดแบบเรียนอาหารกลางวัน ค่ากิจกรรมต่างๆทุกอย่าง จนถึงชั้นระดับปริญาตรีเป็นขั้นต่ำ ส่วนบัญชีเงินที่ได้รับจากการบริจาคเพื่อการศึกษานั้น ทางคณะกรรมการรวบรวมและจะแบ่งเป็น 3 บัญชีโดยมีคณะกรรมการและผู้ปกครองเป็นผู้ดูแล ประกอบด้วย 1. บัญชีเพื่อการศึกษา  2.บัญชีค่าครองชีพ 3.บัญชีเพื่อส่วนตัวเมื่อรู้นิติภาวะ (อายุ 20 ปี)  นอกจากนี้ หากเงินดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการศึกษา ทางพื้นที่เขตการศึกษาพิจิตรเขต 1 จะให้กู้ยืมจากโครงการกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

นางปัทมา จตุพิศ กล่าวว่า ดช. เคอิโงะ เฝ้ารอข่าวจากเจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่นว่า นายคัทซูมิ ผู้เป็นพ่อจะโทรศัพท์มาเมื่อไหร่ หลานชายกังวลและเฝ้าตั้งตารอมาก

นางปัทมา  กล่าวอีกว่า ส่วนอาการ เครียดจนไม่สบายของหลานชาย ขณะนี้ อาการดีขึ้นหลังจากมีแพทย์ เข้ามาดูแล ต่อยังบ่นคิดถึงพ่ออยู่ตลอดเวลา หากไม่ได้รับการติดต่อจากสถานทูตญี่ปุ่น จะบอก ดช. เคอิโงะ ให้ทำใจและหยุดติดตามหาพ่อเพราะไม่อยากเห็นหลายชายเป็นแบบนี้ไป นางปัทมา  จตุพิศ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 18 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย โทรศัพท์ติดต่อกลับมาที่ ดช.เคอิโงะ หลังจากรู้ข่าว ดช. เคอิโงะไม่สบายโดยสอบถามอาการ พร้อมกับให้กำลังใจ ดช. เคอิโงะว่า ไม่ต้องคิดมาก สถานทูตกำลังติดต่อ นายคัทซูมิ อีกไม่นานเกินรอทั้งคู่จะได้คุยกันแล้ว

นางปัทมากล่าวว่า  เจ้าหน้าที่ทูตยังบอกอีกว่า ถ้าหากนายคัทซูมิโทรศัพท์ติดต่อมา อยากจะให้พา ดช. เคอิโงะ ไปกรุงเทพฯ

โดยขอให้ขึ้นรถทัวร์ไปลงที่สถานีขนส่งหมอชิต ที่กรุงเทพมหานคร และนั่งรถแทกซี่ต่อไปยังสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น
"ดิฉันบอกเจ้าหน้าที่ทูตว่า ไปไม่ได้ อยากให้ นายคัทซูมิ โทรศัพท์ไปที่พิจิตร เพราะนายสมชัย หทยตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ติดต่อล่าม ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวรไว้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ทูตบอกว่า อยากให้ไปคุยกันที่สถานทูตมากกว่าที่พิจิตร"นางปัทมากล่าว

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีการช่วยเหลือ ด.ช.เคอิโงะ ซาโตะ ตามหาพ่อชาวญี่ปุ่น ว่า การที่สังคมให้ความสนใจกรณีเด็กชายเคโงะมาก เพราะ

1.เป็นความรักหญิงไทย-ชายญี่ปุ่น ความรักข้ามแดน ความรักแบบนิยายเรื่องคู่กรรม ซึ่งสะท้อนพลังความรักที่โดนใจประชาชน
2.การที่เด็กชายลูกครึ่งอายุเพียง 9 ปี ต้องตามหาพ่อตั้งแต่อายุยังน้อย และการต้องตามพ่อที่อยู่ต่างแดนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้ง ด.ช.เคอิโงะ ยังได้แสดงถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้า ผ่านวิธีการติดตามที่น่าเห็นใจมาก คือ การเดินสอบถามนักท่องเที่ยวที่พระวิหารหลวงพ่อเพชรเป็นเวลายาวนานร่วม 2 ปี ทั้ง 2 เหตุผลจึงทำให้คนทั่วไปจะรู้สึกชื่นชมและเห็นใจ
 

"ขณะนี้ ชีวิต ด.ช.เคอิโงะ กลายเป็นเหมือนคู่กรรม 2 แต่ไม่อยากให้ประชาชน และสื่อ จับจ้องจนกลายเป็นเรียลลิตี้ โชว์ เพราะจะเกิดความกดดันกับเด็ก และพ่อของเด็ก แม้ทุกคนมีความหวังดี แต่ต้องปล่อยเรื่องนี้ให้เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อได้ข้อสรุป สื่อจึงค่อยรายงานข่าวตามจริง ให้สังคมรับทราบ” นพ.บัณฑิต กล่าวและว่า หาก ด.ช.เคอิโงะ มีโอกาสพบพ่อ หรือสนทนาทางโทรศัพท์ต่อหน้าสาธารณะ ควรเตรียมประเด็นสนทนาของทั้ง 2 ฝ่าย ให้เป็นเรื่องของการสื่อสารความรู้สึกดีๆ ต่อกัน ไม่ควรกล่าวถึงประเด็นความคาดหวังใดๆ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์