ชาวภูเก็ตโล่งใจ ฝรั่งดับไร้‘อีโบลา’ สสจ.ตราดสั่งจับตา

ชาวภูเก็ตโล่งใจ ฝรั่งดับไร้‘อีโบลา’ สสจ.ตราดสั่งจับตา

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เปิดเผยถึงการตรวจเลือดชายชาวอังกฤษ
 
ที่เสียชีวิตภายในห้องพักส่วนตัว ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา และพบประวัติเดินทางกลับจากเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย ว่าจากการตรวจสอบชิ้นเนื้อตับ เนื้อในกระพุ้งแก้ม และเนื้อในช่องทวารหนัก ด้วยเครื่องตรวจจากประเทศเยอรมัน และเครื่องตรวจจากประเทศจีน ผลการตรวจออกมาแล้วไม่พบเชื้ออีโบลา แต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี เนื่องจากชิ้นส่วนที่เอามาตรวจนั้นได้มาจากศพ
 
ผลที่ออกมาจึงยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ เพราะตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก จะใช้เลือดมาตรวจวิเคราะห์ ส่วนการตรวจจากศพยังไม่มีแนวทางปฏิบัติ ทั้งนี้ ผลที่ได้ทั้งหมดได้แจ้งให้กรมควบคุมโรค ทราบแล้ว และให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ตีความหมายอีกครั้งหนึ่ง

ด้าน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
 
ทางจุฬาฯ ได้ตรวจสอบ 3 ประเภท คือ 1.ตรวจสอบหาเชื้อไวรัสอีโบลา ชนิดให้ผลเร็ว (เรียลไทม์ พีซีอาร์) เช่นเดียวกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2.การตรวจสอบยืนยันผลซ้ำ ซึ่งครอบคลุมความผันแปรของรหัสพันธุกรรม เพื่อหาเชื้อไวรัสอีโบลา เชื้อไวรัสมาร์บวร์ก และเชื้อไวรัสในตระกูลเดียวกัน และ 3.ตรวจวิเคราะห์ตามมาตรฐานศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) โดยผลการตรวจวิเคราะห์ทั้ง 3 ประเภท ให้ผลเป็นลบ ไม่พบว่ามีเชื้อไวรัสอีโบลา หรือเชื้อมาร์บวร์ก แต่อย่างใด

นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เนื่องจากตัวอย่างเลือดที่ส่งเข้ามาตรวจสอบได้จากศพที่ผ่านการเสียชีวิตมาหลายวัน จึงยังไม่มั่นใจว่า มีผลกับผลวิเคราะห์ออกมาหรือไม่ ดังนั้นยังน่าเป็นห่วง ยังต้องเฝ้าระวังโรคติดเชื้อชนิดอื่นๆ ต่อไปอีก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้าไปสัมผัสกับศพโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน

ทั้งๆ ที่ทราบว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ถือเป็นความประมาทหรือไม่ นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้หารือไปยัง นพ.โภสณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค แล้วว่าการเข้าตรวจสอบศพที่ต้องสงสัยว่าจะมีเชื้อไวรัสอีโบลา ไม่ว่าจะมีเชื้อหรือไม่มีเชื้อ ต้องระมัดระวังอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผู้ที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค จะต้องเข้มงวดเรื่องการเข้าไปสัมผัสกับศพ แม้ว่าไม่ใช่เชื้อไวรัสอีโบลา ก็อาจจะเป็นเชื้อไวรัสตัวอื่นๆ ดังนั้นต้องกำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเรื่องของการเตรียมพร้อมป้องกันตัวเองเต็มที่

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับกรณีเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าตรวจสอบในพื้นที่นั้น

เนื่องจากตอนเข้าไปครั้งแรกไม่ทราบว่าผู้เสียชีวิตเป็นใคร ไม่ทราบชื่อด้วยซ้ำ จึงไม่รู้ว่ามาจากประเทศที่มีความเสี่ยง อย่างไรก็ดี สิ่งที่ได้ทำก็ถือว่าถูกต้องตามมาตรฐาน คือ มีการสวมถุงมือ สวมอุปกรณ์ป้องกัน และไม่สัมผัสเลือด หรือสารคัดหลั่งโดยตรง ก็ถือว่ามีมาตรฐานเพราะโรคนี้ติดต่อแบบเดียวกันกับโรคเอดส์

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการเผยแพร่เอกสารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตราด ส่งไปยัง รพ.ตราด เพื่อเตรียมความพร้อมดูแลรักษาผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยมีการส่งต่อกันผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว

นพ.ชรัตน์ วสุธาดา นายแพทย์ สสจ.ตราด กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึง รพ.ตราด และเครือข่ายสาธารณสุขทุกแห่ง
 
เพื่อให้เตรียมความพร้อมดูแลรักษาผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 3 ชลบุรี แจ้งให้ สสจ.ตราด ทราบว่ามีผู้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ซึ่งเข้าข่ายต้องติดตามเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสดังกล่าว 1 ราย ใน อ.เมืองตราด เป็นชาย อายุ 47 ปี สัญชาติออสเตรเลีย ทำงานแท่นขุดเจาะ ประเทศคองโก เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา วัดอุณหภูมิร่างกายได้ 36.3 องศาเซลเซียส

ส่วนผลการติดตามชายคนนี้ พบว่าอาศัยอยู่ที่ จ.ตราด โดยมีภรรยาเป็นคนไทย มาอาศัยอยู่ได้ประมาณ 2 ปี ซึ่งทีมเฝ้าระวังเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ต้องเฝ้าติดตามอาการไข้ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ หรือ 21 วัน หลังจากเดินทางออกจากพื้นที่ระบาด เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการรักษาพยาบาล เพราะผู้เดินทางรายใดหากมีอาการไข้เข้าตามนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวน ก็จะเตรียมระบบดูแลรักษาผู้ป่วย รวมทั้งระบบป้องกันและควบคุมการติดเชื้อใน รพ.ให้พร้อมด้วย

“ผู้ป่วยรายนี้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสอีโบล่า เท่านั้น ไม่ใช่ผู้ป่วยที่เป็นโรคแล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าตกใจ หรือเรื่องที่ชาวตราด ต้องกังวล หรือผู้ประกอบการ เกรงว่าจะกระทบกับธุรกิจท่องเที่ยว เพราะเขาไม่ใช่ผู้ป่วย ที่ผ่านมา ทาง สสจ.ตราด เฝ้าระวังเเชื้ออีโบลา ตั้งแต่แรก และประเทศไทย มีมาตรการเฝ้าระวังที่ดีกว่าประเทศสหรัฐอเมริกา เสียอีก อีกทั้งชาวต่างประเทศรายนี้เข้ามาเพื่อต่อวีซ่าเท่านั้น จึงไม่เป็นเรื่องที่ต้องวิตกกังวลแต่ประการใด แต่ที่ต้องแจ้งให้เครือข่ายทราบ ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ไม่ได้ต้องการให้กลัวหรือตื่นตกใจ” นพ.ชรัตน์ กล่าว

ขณะที่ นพ.พิเชียร วุฒิสถิรภิญโญ ผู้อำนวยการ รพ.ตราด ได้แจ้งให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ประสานข้อมูลแจ้งต่อสื่อมวลชน เพื่อแถลงข่าวให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และให้ความรู้กับประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดกับกรณีดังกล่าวแล้ว


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์