ชัยวัฒน์ชี้โรงไฟฟ้าระเบิดที่ญี่ปุ่นไม่ส่งผลถึงไทย

สำนักงานปรมาณูฯ เผยเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ญี่ปุ่นยังไม่ส่งผลถึงไทย แต่จะติดตามสถานการณ์24ชม. ยันมีแผนรับมือภัยทางรังสี พร้อมตรวจเข้มอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น


วันนี้( 14 มี.ค.) ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ถ.วิภาวีรังสิต ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

เปิดเผยถึงกรณีเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นจนทำให้เกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดว่า ทางสำนักงานฯ ได้รับแจ้งล่าสุดจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศถึงการการระเบิดของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ณ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะหมายเลข 1 แล้ว โดยคาดว่ามีสาเหตุเดียวกับการระเบิดที่โรงไฟฟ้าโรงที่ 1ซึ่งเกิดจากก๊าซไฮโดรเจนภายในโรงงานนิวเคลียร์ โดยเกิดภายนอกอาคารคุมเครื่องปฎิกรณ์(Primary Containment Vessel หรือ PCV) ซึ่งหากมีสารกัมมันตรังสีฟุ้งกระจายจะไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามหาสมุทรแปซิฟิคตามทิศทางลม จึงไม่มีผลถึงประเทศไทย แต่ทางสำนักงานฯก็จะเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง   


สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยต้องหยุดชะงักหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับ นโยบายของรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน 

ทางสำนักงานฯ เป็นหน่วยงานที่คอยกำกับตรวจสอบให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะสร้างขึ้นให้มีมาตรฐานเหมือนต่างประเทศเท่านั้น ส่วนคนไทยที่จะเดินทางไปญี่ปุ่นคงต้องศึกษาข้อมูลและควรเลี่ยงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสี


นายกิติศักดิ์ ชินอุดมทรัพย์ ผอ.สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี กล่าวว่า ปัจจุบันในไทยมีเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์ 1 แห่งอยู่ที่สำนักงานฯ
 
แต่มีขนาดเล็กและใช้เพื่อการวิจัยเท่านั้นหากเกิดเหตุฉุกเฉินก็ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน นอกจากนี้ยังได้จัดทำแผนเพื่อเตือนภัยและรับมือกับภัยทางรังสีที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งการอพยพเคลื่อนย้ายคน และการแนะนำประชาชนหากได้รับรังสีเข้าร่างกาย โดยร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแบบบูรณาการจะมีการซ้อมใหญ่แผนรับมือในช่วงเดือน มิ.ย.นี้


ด้าน น.ส.ศิริรัตน์ พีรมนตรี ผอ.สำนักสนับสนุนการกำกับดูแลความปอลดภัยจากพลังงานปรมาณู กล่าวว่า
 
ปัจจุบันสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีที่มีอยู่ 8 สถานี ที่ จ.เชียงใหม่ พะเยา  อุบลราชธานี ขอนแก่น ตราด ระนอง สงขลา และกรุงเทพฯ ตรวจวัดปริมาณรังสีไม่พบว่ามีค่าผิดปกติแต่อย่างใด โดยวัดค่ารังสีแกมมาในอากาศและสิ่งแวดล้อมได้ 50 นาโนซีเวิร์ทต่อชั่วโมง ถือว่าน้อยมาก จากเกณฑ์ที่ตั้งไว้ว่าหากพบมากกว่า 200  นาโนซีเวิร์ทต่อชั่วโมง จึงจะนำตัวอย่างน้ำและอากาศมาตรวจสอบหาสาเหตุ ในส่วนของอาหารที่นำเข้าจากญี่ปุ่นก็ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. )  เพื่อสุ่มตรวจให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้นจากเดิมที่มีการตรวจคุณภาพว่ามีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนหรือไม่อยู่แล้ว  สำหรับประชาชนที่สนใจติดตามข่าวและประกาศการเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นติดตามได้ที่ www.oaep.go.th หรือสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินทางรังสี 08-9200-6243 ตลอด 24 ชั่วโมง


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์