ชวนชมปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงพฤหัสฯ 11-13 พ.ค.

เมื่อ 6 พ.ค.54  นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า จะมีปรากฏการณ์ธรรมชาติบนฟากฟ้าที่มองเห็นด้วยตาเปล่าน่าติดตามอย่างยิ่ง

 คือดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี ในเช้ามืดวันที่ 12 พฤษภาคม 2554 สุดขอบฟ้าทิศตะวันออก เป็นระยะใกล้มากที่ 37 ลิปดา 51 ฟิลิปดา และยังมีดาวพุธอยู่ในกลุ่มด้วยโดยดาวพุธอยู่ใกล้ดาวศุกร์ในระยะ 1 องศา 30 ลิปดา 08 ฟิลิปดา และอยู่ใกล้ดาวพฤหัสในระยะ 2 องศา 3 ลิปดา 13 ฟิลิปดา แนะนำว่า ผู้สังเกตการณ์ต้องหาที่โล่ง หรือที่สูงไม่มีอาคารบัง จึงจะพอสังเกตได้

 นายวรวิทย์กล่าวว่า ดาวเคราะห์ 3 ดวงที่จะเกาะกลุ่มขึ้นจากขอบฟ้าใกล้เคียงกัน
 
โดยดาวพฤหัสบดีขึ้นจากขอบฟ้าก่อนเวลา 04.21.56 น. ด้วยความสว่าง - 2.07 อยู่ในกลุ่มดาวปลา (Pisces) จากนั้นดาวศุกร์ขึ้นพ้นขอบฟ้าเป็นดวงที่สอง เวลา 04.24.06 น. ด้วยความสว่าง - 3.89 อยู่ในกลุ่มดาวปลา และดาวพุธขึ้นพ้นขอบฟ้าเป็นดวงที่สาม 04.26.53 น. ด้วยความสว่าง 0.30 อยู่ในกลุ่มดาวปลา จากนั้นเวลา 04.40 น. ดาวเคราะห์ดวงที่ 4 ที่มองเห็นด้วยตาเปล่าคือดาวอังคาร จะขึ้นตามมา ด้วยความสว่าง 1.27อยู่ในกลุ่มดาวแกะ (Aries)

 นอกจากดาวเคราะห์ทั้ง 4 ดวงที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ยังมีดาวเคราะห์ดวงที่ 5 ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อยู่ในกลุ่มดาวปลาด้วยนั่นคือดาว ยูเรนัสซึ่งขึ้นจากขอบฟ้ามาก่อนแล้ว โดยอยู่สูงเหนือดาวพฤหัสบดี 21องศา 55 ลิปดา2 ฟิลิปดา

 ปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดีไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่สังเกตได้เช้ามืดของ สามวัน คือ วันที่  11 12 และ 13 พฤษภาคม โดยเฉพาะวันที่ 12 พ.ค. ดาวศุกร์ใกล้ดาวพฤหัสมากที่สุด จึงน่าติดตามชมเป็นอย่างยิ่ง”


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์