ชมสุริยุปราคาทั่วประเทศได้ 22 ก.ค. นานที่สุดในศตวรรษที่ 21 เตือนอย่าดูด้วยตาเปล่า มีสิทธิ์ตาบอด


22 กรกฎาฯ ไทยชมปรากฎการณ์สุริยุปราคาทั่วประเทศ 6 นาที 39 วินาที นานที่สุดในศตวรรษที่ 21 สดร.ร่วม 6 สถาบันการศึกษาตั้งกล้องชมฟรี แนะอย่าดูด้วยตาเปล่า เริ่มดูได้ตั้งแต่เช้า 07.02 น กทม.ดูได้ 07.06 น.

นายบุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ว่า สดร.ร่วมกับสถาบันการศึกษา 6 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เตรียมจัดชมปรากฎการณ์สุริยุปราคา ช่วงเช้าวันที่ 22 กรกฎาคม ชื่อกิจกรรม "สุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย 22 กรกรฎาคม 2552" โดยจะตั้งกล้องสำหรับถ่ายภาพปรากฏการณ์ดังกล่าว รวมทั้งแจกแผ่นกรองแสงสำหรับชมปรากฏการณ์ และการจัดนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับการเกิดสุริยุปราคาในประเทศไทยควบคู่กับแจกคู่มือการชมปรากฏการณ์อย่างถูกวิธี
 
นายบุญรักษา กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงานกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอใช้พื้นที่บริเวณวงเวียน 22 กรกฎา ย่านเยาวราช เพื่อจัดกิจกรรมการชมปรากฎการณ์สุริยุปราคาบางส่วน ซึ่งในแต่ละภูมิภาคจะเห็นในเวลาที่แตกต่างกัน
 
"ยกตัวอย่าง พื้นที่กรุงเทพฯ ดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่สัมผัสที่ 1 ในเวลาประมาณ 07.06 น. และสิ้นสุดเหตุการณ์ในเวลา 09.08 น. ปรากฎการณ์ครั้งนี้จะเกิดนานที่สุดในภาคเหนือ คือ ประมาณ 2 ชั่วโมง 12 นาที ที่ จ.เชียงราย โดยดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 69 ของพื้นที่ดวงอาทิตย์

นอกจากนี้ ในปี 2553 คนไทยยังมีโอกาสชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนอีกครั้ง ในวันที่ 15 มกราคม 2553 ซึ่งสามารถเห็นได้ทุกภูมิภาค โดยแต่ละภูมิภาคจะเห็นปรากฎการณ์ในเวลาที่แตกต่างกันเช่นกัน ที่กรุงเทพฯ จะเริ่มตั้งแต่เวลา 14.00 น.สิ้นสุดเหตุการณ์ในเวลา 16.58 น. และจะเกิดขึ้นนานสุดที่ภาคเหนือ ที่ จ.แม่ฮ่องสอน กินเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 6 นาที โดยดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 77 ของพื้นที่ดวงอาทิตย์ ซึ่งถือว่านานกว่าการเกิดสุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ แต่ทั้งหมดก็เป็นโอกาสดีของคนไทยที่จะได้ชมและศึกษาปรากฎการณ์บนท้องฟ้า เพราะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก" นายบุญรักษา กล่าว 
  
ด้านนายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. กล่าวว่า สำหรับบางพื้นที่ของโลก เช่น อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่เส้นทางเงามืดของดวงจันทร์พาดผ่านจะเกิดเป็นสุริยุปราคาแบบเต็มดวงโดยสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ จะกินเวลานานที่สุดในศตวรรษที่ 21 คือ 6 นาที 39 วินาที ที่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้

ในส่วนของการติดตามปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทยนั้น เนื่องจากดวงอาทิตย์มีความสว่างมาก ไม่สามารถดูด้วยตาเปล่าได้ จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังและอุปกรณ์ที่มีความปลอดภัยสูง เช่น แว่นตาดูดวงอาทิตย์ที่ สดร. และ อพวช.ได้ผลิตออกมา การใช้กล้องรูเข็มฉายภาพลงบนฉากรับภาพก็มีความปลอดภัยเนื่องจากเราไม่ได้มองดวงอาทิตย์โดยตรง วัสดุที่อาจนำมาใช้เป็นแผ่นกรองแสงได้ เช่น แผ่นซีดี ดีวีดี แต่ต้องแน่ใจว่าสารเคลือบไม่หลุดลอก นอกจากนี้ยังสามารถใช้กระจกช่างเชื่อมเบอร์ 14 ดูดวงอาทิตย์ได้อย่างปลอดภัยด้วย
 
อนึ่ง สุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทยวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่นานที่สุดในศตวรรษที่ 21 คือ 6 นาที 39 วินาที เกิดเวลาประมาณ  07.00 - 09.19 น. เป็นสุริยุปราคาแบบเต็มดวง มีแนวคราสตามเส้นทางที่พาดผ่านประเทศอินเดีย จีน ญี่ปุ่น และมหาสมุทรแปซิฟิคใต้ ส่วนสุริยุปราคาบางส่วนเห็นได้เป็นบริเวณแนวกว้างตามเส้นทางที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน ได้แก่ เอเชียตะวันออกทั้งหมด อินโดนีเซีย และมหาสมุทรตอนใต้ ประเทศไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาแบบบางส่วน และสามารถเห็นได้ทุกภูมิภาค

โดยแต่ละภูมิภาคจะเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาแตกต่างกัน และปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในครั้งนี้จะเกิดขึ้นนานที่สุดในภาคเหนือ ซึ่งจะมีการตั้งกล้องชมพร้อมกัน ดังนี้ ภาคกลาง ตั้งกล้องที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยนเรศวร ภาคตะวันออก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปตั้งกล้องที่ จ.ระยอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต สำหรับกรุงเทพฯ ตั้งกล้องที่โรงเรียนเทพศิรินทร์
 
สำหรับตารางแสดงเวลาที่เกิดสุริยุปราคาในประเทศไทย ได้แก่
เชียงราย เวลา 07.02 น.
เชียงใหม่ เวลา 07.02 น.
พิษณุโลก เวลา 07.04 น.
อุดรธานี เวลา 07.05 น.
ขอนแก่น เวลา 07.06 น.
อุบลราชธานี เวลา 07.09 น.
นครราชสีมา เวลา 07.07 น.
กรุงเทพฯ เวลา 07.06 น.
ฉะเชิงเทรา เวลา 07.07 น. 
ประจวบคีรีขันธ์ เวลา 07.08 น.
ภูเก็ต เวลา 07.13 น. และ
สงขลา เวลา 07.16 น.

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์