จีนแนะช่องยืดเวลาแพนดาน้อย อยากได้ชื่อคน2ปท.เข้าใจ

นายประเสริฐศักดิ์ บุญตระกูลพูนทวี หัวหน้าโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนดาในประเทศไทย สวนสัตว์เชียงใหม่

เปิดเผยภายหลังเดินทางกลับจากการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเสนอจัดตั้งศูนย์วิจัยแพนดาไทย-จีนถาวร ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อเวลา 09.20 น. วันที่ 16 มิถุนายน ว่า ได้รับการตอบรับและความร่วมมือจากทางการจีนอย่างอบอุ่นมาก แม้ว่าจะเป็นการประสานแบบกระชั้นชิดและอยู่ในช่วงวันหยุด แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงป่าไม้ อธิบดีกรมการอนุรักษ์สัตว์ป่า หรือแม้แต่นางหยาง ไป่ จิ้ง เลขาธิการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ก็เดินทางมาร่วมพบปะหารือด้วยตนเอง เพื่อรับฟังคำชี้แจงจากทีมไทย เกี่ยวกับการให้กำเนิด การเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดีของแพนดาน้อย ที่เกิดจากการผสมเทียมระหว่างหลินฮุ่นกับช่วงช่วง ตลอดจนความรู้สึกประทับใจของชาวไทยต่อลูกแพนดาน้อย


"ทางการจีนแสดงความยินดีต่อไทยอย่างมาก ที่สามารถผสมเทียมและให้กำเนิดลูกแพนดาได้ เพราะแพนดามีลูกยาก ถือเป็นความงอกงามทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ส่วนข้อเสนอจัดตั้งศูนย์วิจัยแพนดาไทย-จีน ถาวรที่เชียงใหม่นั้น เป็นเรื่องที่ทางการจีนระบุว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีแนวคิดและประเทศอื่นที่นำแพนดาไปจัดแสดงไม่เคยยื่นข้อเสนอมาก่อน ถือว่าไทยเป็นประเทศแรกและเป็นของใหม่ จึงต้องนำกลับไปศึกษาวิธีการและความเป็นไปได้ก่อน เพราะที่ผ่านมาในประเทศจีนมีศูนย์ลักษณะดังกล่าว 4 แห่ง ที่เน้นสถานที่ตั้งใกล้ชิดกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของแพนดามากที่สุด" หัวหน้าโครงการวิจัยฯระบุ

นายประเสริฐศักดิ์ กล่าวต่อว่า นางหยาง ไป่ จิ้ง แนะนำว่าไทยมีสัญญาอยู่และยังเหลืออีกหลายปี

ซึ่งมีการระบุว่า สองฝ่ายสามารถทบทวนสัญญาได้ตามความต้องการ ส่วนนายเฉิน หลุน เซิง อดีตเลขาธิการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า แนะนำว่าทั้งสองเรื่องมีความเป็นไปได้ เพราะการจัดตั้งศูนย์ถาวรเคยมีการพูดคุยกันมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ช่วงช่วงและหลินฮุ่ยเดินทางมาอยู่เมืองไทย เพียงแต่ไม่ได้มีการสานต่อจึงไม่ใช่เรื่องใหม่


"นายเฉิน หลุน เซิง บอกว่า ลูกแพนดามีเวลาอยู่ในไทยถึง 2 ปี จึงขอให้ไทยดูแลแพนดาทั้ง 3 ตัวให้ดี พอใกล้เวลาที่แพนดาน้อยอายุ 1 ปีครึ่ง ให้เริ่มเจรจาในหลายๆ ทาง ทั้งด้านการทูต สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ระดับกระทรวงและรัฐบาล คาดว่าการยืดอายุไปอีก 1 ปี ไม่น่ามีปัญหา หากได้ 2 ปี ก็จะถือว่าเป็นเรื่องพิเศษมาก แต่เบื้องต้นจีนยังยืนยันว่า 4 ปี จำเป็นต้องนำกลับไปหาคู่ ตอนนี้จึงถือว่าเร็วไปที่จะตอบได้ แต่การไปเยือนไม่สูญเปล่า เพราะได้คำแนะนำที่มีประโยชน์ในการนำไปสานต่อ ส่วนเรื่องชื่อทางจีนแนะนำว่าอยากให้มีความหมายที่ไทยและจีนเข้าใจ เพราะเมื่อกลับไปจีนก็จะรู้และเรียกชื่อได้ ซึ่งตอนนี้ทางจีนยังไม่ได้ตั้งรหัสให้ คาดว่าน่าจะรอครบ 1 ปี" หัวหน้าโครงการวิจัยฯระบุ

นายประเสริฐศักดิ์ กล่าวถึงสุขภาพโดยรวมของแพนดาแม่ลูกว่า แข็งแรงสมบูรณ์ดี เมื่อกลับมาถึงเชียงใหม่เข้าไปเยี่ยมพบว่า ลูกแพนดาโตขึ้นแบบผิดหูผิดตา

คาดว่าวันที่ 18 มิถุนายน จะต้องตรวจสุขภาพ มั่นใจว่าจะมีน้ำหนักมากกว่า 1 กิโลกรัม เพราะเป็นช่วงโตเร็วมาก เฉลี่ย 200 กรัมต่อวัน
"ไม่ต้องห่วงใยที่จะเห็นแพนดาน้อยตกลงสู่พื้นและร้องบ่อยๆ ในช่วงนี้ เพราะจะไม่เจ็บแต่จะดิ้นแรง ชาวจีนจะเรียกแพนดาว่าหมีแมว เพราะมีร่างกายยืดหยุ่นรับแรงกระแทกจากการตกจากที่สูงได้ ปีนป่ายได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งเป็นธรรมชาติของแพนดา ที่สำคัญแพนดาหนังเหนียวไม่เป็นอะไรเลยจากการเข้าไปตรวจดูหลังตกลงมาวานนี้" นายประเสริฐศักดิ์ กล่าว

ด้าน ส.พญ.กรรณิการ์ นิ่มตระกูล สัตวแพทย์ประจำตัวหลินฮุ่ย กล่าวว่า หลินฮุ่ยเริ่มกินไผ่ตงดีขึ้น โดยเฉพาะส่วนใบและยอดอ่อนที่พี่เลี้ยงจะเด็ดและมัดเป็นกำให้ง่ายต่อการกิน ส่วนการเลี้ยงดูแพนดาน้อยบางครั้งหลินฮุ่ยไม่สามารถคาบลูกได้ทั้งตัว และพยายามเรียนรู้ตามสัญชาตญาณ ซึ่งนายเว่ย หมิง ผู้เชี่ยวชาญจีนบอกว่าไม่ต้องสอน เพราะแพนดาเพศเมียจะเรียนรู้ได้เองด้วยความระมัดระวัง และไม่พบแผลบนผิวหนังแพนดาน้อยเลย เชื่อว่าไม่นานจะได้เห็นหลินฮุ่ยคาบลูกได้คล่องขึ้นแม้ว่าจะตัวโต

"แพนดาน้อยเติบโตค่อนข้างเร็ว มีแรงมาก ทำให้บางครั้งดิ้นและไถลลงจากตัวแม่ได้เอง และมักจะร้องเมื่อสัมผัสพื้น แต่หลินฮุ่ยจะรีบคาบลูกขึ้นสู่อ้อมกอดอย่างรวดเร็ว เหมือนการปลอบเมื่อลูกร้องงอแง ทั้งนี้ จะตรวจสุขภาพและชั่งน้ำหนักลูกแพนดาอีกครั้งในเช้าวันที่ 18 มิถุนายน" ส.พญ.กรรณิการ์ กล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์