จับปม สัญญา บีทีเอส 30 ปี...เขย่าเก้าอี้พ่อเมืองกรุง

จับปม สัญญา บีทีเอส 30 ปี...เขย่าเก้าอี้พ่อเมืองกรุง


เช้าวันนี้คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้บริหารบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และผู้บริหารบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี รวม 9 คนและนิติบุคคลอีก 2 หน่วยงานคือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ เคที จะเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาและข้อหา ตามการนัดหมายของ คณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)  กรณีที่กทม. โดยบริษัทกรุงเทพธนาคม ได้ลงนามสัญญาจ้างบีทีเอสซี ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พ.ค. 55
 
ทั้งนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ระบุว่าการลงนามสัญญาดังกล่าว เข้าข่ายกระทำความผิด การปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ราชการและเป็นความผิดอาญาในข้อหา “ร่วมกันประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามประกาศคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 58 พ.ศ. 2515” 
 
ประเด็นข้อกฎหมายที่ดีเอสไอ ออกมาระบุว่ามีอำนาจในการสอบสวนคดีนี้ โดยอ้างการปฏิบัติฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 มาตรา 52 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาทโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาในเรื่องการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งอำนาจการไต่สวนหรือชี้มูลในกรณีที่เป็นข้าราชการการเมืองเป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ทั้งนี้ฝ่าย กทม. ได้มีหนังสือไปถึงอธิบดีดีเอสไอ ขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงการแจ้งให้มารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจาก กทม. เห็นว่าเมื่อดีเอสไอไม่มีอำนาจไต่สวน เพราะเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ดังนั้นดีเอสไอจึงไม่มีอำนาจแจ้งข้อกล่าวหาใด ๆ ต่อผู้ว่าฯ กทม. หรือ รองผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง  ซึ่งหนังสือดังกล่าวก็ทำเพื่อให้เป็นหลักฐานว่า กทม. เห็นว่าการกระทำของดีเอสไอไม่ถูกต้อง แต่ก็จะให้ความร่วมมือโดยเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้

ข้อถกเถียง นอกเหนือจากกรณีที่ทั้ง 2 หน่วยงานโต้แย้งในเรื่องอำนาจการสอบสวนของดีเอสไอแล้ว ประเด็นสำคัญคือ ข้อกล่าวอ้างถึงอำนาจในการทำสัญญากับบีทีเอส ซึ่งฝั่งดีเอสไอยืนยันว่า เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กทม. ไปลงนามสัญญาดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจและไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของอำนาจตัวจริงคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม่เป็นไปตามประกาศคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 58 พ.ศ. 2515
 
ประชาชนชาวกรุงเทพฯ คงรับรู้กันตั้งแต่ต้นแล้วว่า รถไฟฟ้าบีทีเอสรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทยนี้ เป็นโครงการที่ กทม.ให้บริษัทบีทีเอสซีดำเนินการในรูปแบบสัมปทานระยะเวลา 30 ปี คือเส้นทางสายสุขุมวิท จากหมอชิต-อ่อนนุช และสายสีลมจากสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีสะพานตากสิน ซึ่งขณะนี้ระยะเวลาตามสัมปทานนั้นเดินมาถึงปีที่ 13 แล้วเหลืออีก 17 ปี จะหมดครบเวลาสัมปทานและโครงสร้างทั้งหมดจะตกเป็นของกทม. แต่ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการก่อสร้างส่วนต่อขยายเพิ่มโดยเปลี่ยนจากรูปแบบสัมปทานเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดย กทม. และว่าจ้างบีทีเอสมาเดินรถส่วนต่อขยาย โดยเปิดเพิ่มสายสีลมจากสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่เมื่อปี 2552 และเปิดเพิ่มอีกในส่วนต่อขยายจากอ่อนนุช-แบริ่ง เมื่อปี 2554 ซึ่งในช่วงที่ให้บริการ 3 ปีที่ผ่านมาได้ว่าจ้างบีทีเอสเดินรถเป็นรายปี  ประกอบกับในปี 55-56 นี้ กทม. จะเปิดเดินรถเพิ่มในส่วนของสายสีลมต่อจากสถานีวงเวียนใหญ่–เพชรเกษม (บางหว้า) จึงมีแนวคิดที่จะเจรจาเพื่อรวมสัญญาจ้างเดินรถที่แบ่งเป็นส่วน ๆ ให้รวมเป็นสัญญาเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและการว่าจ้างในระยะเวลาที่ยาวขึ้นเพื่อลดต้นทุน โดย กทม. กล่าวอ้างว่าจะส่งผลให้เจรจาค่าจ้างเดินรถได้ในราคาที่ต่ำกว่าการจ้างปีต่อปี  จึงเกิดการลงนามสัญญารวบทั้งส่วนสัมปทานเดิมและส่วนที่เคยจ้างเป็นปี ๆ รวมกันเป็นสัญญาเดียว 30 ปีตั้งแต่ 3 พ.ค. 55–3 พ.ค. 85
 
โดยในส่วนของเส้นทางสัมปทานเดิมที่เหลืออีก 17 ปีนั้นทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ตามสัมปทานเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อครบเวลาสัมปทานในปี 72 แล้วทรัพย์สิน รายได้ค่าโดยสารและสิทธิประโยชน์ทุกอย่างจะตกเป็นของ กทม. และบีทีเอสมีสิทธิได้รับเฉพาะค่าจ้างเดินรถเท่านั้น ไปจนครบสัญญาในปี 85 ทั้งนี้เมื่อ กทม. ยืนยันว่าไม่ใช่การต่อสัมปทาน เพราะเป็นส่วนที่ กทม. ลงทุนเองเป็นทรัพย์สินของ กทม.ที่สามารถบริหารจัดการทรัพย์สินของตนเองได้ โดยอาศัยอำนาจการดำเนินกิจการการขนส่งตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ประกอบความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการที่ กทม.มอบให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของ กทม.ดำเนินการนั้นไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ)
 
จะเห็นได้ว่าประเด็นเรื่องนี้ มีมุมมองข้อกฎหมายที่ต่างกัน โดยดีเอสไอ มองว่าการทำสัญญาต่อเนื่องไปอีก 30 ปีครั้งนี้เป็นการ “ต่อสัมปทาน” ในขณะที่ กทม. ยืนยันว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขส่วนของสัญญาสัมปทานเดิม เพราะระยะเวลาที่เกินจากสัมปทานเดิมไปนั้น เป็น “สัญญาจ้างเดินรถ”
 
ส่วนประเด็นว่า การทำสัญญาครั้งนี้ กทม.ได้ประโยชน์สูงสุดจริงหรือไม่นั้น  ข้อเท็จจริงขณะนี้ในฝั่งของ กทม. คือ การเจรจาครั้งนี้เท่ากับปิดประตูตาย สิทธิประโยชน์จะตกเป็นของเอกชนมหาศาล เพราะเป็นการเปลี่ยนสถานะของบีทีเอสให้เหลือเพียงผู้รับจ้างเดินรถทันทีที่ครบสัญญาสัมปทานในปี 72  อีกทั้ง กทม.ยังยืนยันว่าการเจรจาค่าจ้างบริหารเดินรถครั้งนี้คือราคาที่ต่ำแล้ว เพราะการลงทุนระบบรถไฟฟ้า เอกชนจะมีหลักการคำนวณการลงทุน ตลอดอายุการใช้งานรถไฟฟ้าที่ 30 ปี แม้กทม.จะทำสัญญาว่าจ้างไป 17 ปี เอกชนก็จะคิดคำนวนราคาการลงทุนเดินรถที่ 30 ปีอยู่ดี ดังนั้นการตัดสินใจจ้าง30ปีจึงเป็นการประหยัดงบประมาณได้มากกว่า รวมทั้งยังนำข้อมูลเปรียบเทียบค่าจ้างเดินรถที่กทม.จ้างบีทีเอส ถูกกว่าเมื่อเทียบกับค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งใช้ราคากลางจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เป็นฐานเช่นเดียวกัน  นอกจากนี้ กทม.ยังคงยืนยันว่า เมื่อครบระยะเวลาสัมปทานทรัพย์สิน สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมทั้งการกำหนดค่าโดยสารจะอยู่ที่ ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้อยู่ที่เอกชน เหมือนกับการให้สัมปทาน 
 
อย่างไรก็ตามในประเด็นเรื่องที่ กทม.ได้รับประโยชน์สูงสุดแล้วหรือไม่นั้น ก็มีมุมมองที่เห็นแย้งว่า หากรอให้หมดสัมปทานอีก 17 ปีข้างหน้า แล้วเปิดประมูล ให้เอกชนที่สนใจเข้ามาแข่งขันกันน่าจะได้ราคาค่าจ้างที่ถูกกว่าการตัดสินใจว่าจ้างบีทีเอสในตอนนี้หรือไม่ ซึ่งคงต้องใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อมาสนับสนุนให้เห็นว่าในอนาคตจะได้ราคาที่ถูกกว่านี้จริงหรือไม่อย่างไร      
 
การออกมาเดินหน้าเรื่องนี้ของดีเอสไอ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่พุ่งเป้าไปยัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ที่กำลังจะเป็นว่าที่ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่กำลังจะมาถึงในเดือน มี.ค.นี้  ทั้งที่เรื่องนี้มีการยื่นให้ตรวจสอบตั้งแต่เดือน พ.ค.ปีที่ผ่านมา  จึงเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ยาก ว่าเรื่องนี้ต้องการส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมในตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ โดยตรง ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คดีก็ต้องไปสู่การพิจารณาสอบสวนของ ป.ป.ช.และศาลยุติธรรม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่แต่ละฝ่ายจะงัดมาต่อสู้กัน เพราะเรื่องนี้ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ได้ไปยื่นเรื่องถึง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบกรณีนี้แล้ว 
 
ในเมื่อยังมีปมปัญหาให้ต้องตีความ  คงต้องรอกระบวนการตรวจสอบ  พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ได้ว่า ว่าเรื่องนี้คนกรุงเทพฯได้ประโยชน์จริงหรือไม่ เป็นการทำนิติกรรมอำพรางหรือไม่ เพื่อให้นักการเมืองที่จะมาทำหน้าที่ ดำเนินการและกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของ กทม. และของประชาชนเป็นไปด้วยความโปร่งใส เกิดประโยชน์สูงสุดโดยแท้จริง.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์