จับตาสื่อทีวีดิจิทัล ในภาวะการแข่งขันสูงและโฆษณาราคาตก

จับตาสื่อทีวีดิจิทัล ในภาวะการแข่งขันสูงและโฆษณาราคาตก

การเพิ่มขึ้นของทีวีจากระบบอนาล็อกเดิมที่มีอยู่เพียง 6 ช่อง เป็น 26 ช่องดิจิทัล เมื่อปีที่ผ่านมา ผลักดันให้สื่อทีวีดิจิทัลไทยต้องปรับตัวกันอย่างหนักในภาวะที่แข่งขันกันสูง โดยมี 2 สถานีที่ต้องปรับลดพนักงานลง ขณะที่บริษัทไทยทีวี จำกัด ซึ่งผู้บริหารเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากนิตยสารทีวีพูลนั้น ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครอง กรณีที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียกชำระเงินค่าประมูลงวดที่ค้างอยู่ จำนวน 1,748 ล้านบาท ภายใน 30 วัน ซึ่งวันนี้มีการไต่สวนที่ศาลปกครอง น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ที่เข้าให้ปากคำต่อศาลปกครองระบุว่า ได้ชี้แจงต่อศาลว่าหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ตามที่บริษัทไทยทีวีร้องขอนั้นจะเกิดความเสียหายมาก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการบริหาร ของ กสทช. โดยหากศาลสั่งคุ้มครองให้บริษัทไทยทีวี ก็อาจะส่งผลให้อีก 22 ช่อง ใช้เหตุผลเดียวกันเพื่อไม่ต้องจ่ายเงินประมูลงวดที่เหลืออยู่ และอาจส่งผลต่อการประมูล 4 จีที่เพิ่งเสร็จสิ้นลง เพราะอาจทำให้เกิดการไม่จ่ายเงินประมูลในงวดถัด ๆ ไปได้ โดยอ้างจากการพิจารณาคดีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของแผ่นดินที่เกิดจากการประมูล และการจัดเก็บรายได้ที่เกี่ยวข้อง
ในด้านของผู้ประกอบการ แหล่งข่าวจากทีวีดิจิทัลอย่างน้อย 3 ช่อง บอกกับบีบีซีไทยว่า การที่กสทช. อนุมัติช่องทีวีดิจิทัลพร้อมกัน 26 ช่องนั้นส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้นหลายเท่าในทันที จากที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีสถานีโทรทัศน์ช่องหลักเพียง 6 ช่องเท่านั้น ในจำนวนนี้บางช่องอัตราค่าโฆษณาลดราคาลงเหลือเท่ากับช่องดาวเทียม คือราว 5,000-7,000 บาท ต่อนาที หรือในบางช่วงเวลาอาจลดลงไปต่ำถึงราว 2,000 บาท ขณะที่บางช่องมีโปรโมชั่นโฆษณา 1 นาที แถม 3 นาที เป็นต้น ซึ่งรายรับในระดับนี้ ส่งผลกระทบต่อการผลิต และค่าตอบแทนคนทำงานในองค์กรต่างๆ
นายสุวิทย์ มิ่งมล สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สวัสดิการพนักงานของอสมท. นั้นได้รับผลกระทบและกล้าพูดว่าเป็นผลกระทบโดยตรงจากการเปิดทีวีดิจิทัลพร้อมกันถึง 26 ช่อง โดยคำถามที่เขาทวงถาม กสทช. มาตลอดก็คือ “กสทช. เอาหลักเกณฑ์อะไรมาพิจารณาในการเปิดทีวีดิจิตัลพร้อมกันมากขนาดนี้ และจะรับผิดชอบอย่างไร”
ทั้งนี้ในส่วนของสวัสดิการพนักงานของ อสมท. นั้น นายสุวิทย์กล่าวว่าได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับสถานีดิจิทัลอื่น ๆ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าล่าช้ากว่าปกติแล้ว
สำหรับกรณีล่าสุด ที่วอยซ์ทีวีมีการปลดพนักงานจำนวน 57 คน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนายพยุงศักดิ์ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการอาวุโสบริษัทวอยซ์ทีวีจำกัด ยืนยันว่ามีการปลดพนักงานจริง เพื่อปรับองค์กรให้มีขนาดเหมาะสมในการทำงานที่มีภาวะการแข่งขันสูงมากในธุรกิจทีวีดิจิทัล และชี้แจงว่าได้จ่ายค่าชดเชยอย่างเป็นธรรมตามกฎหมายแรงงาน ขณะที่จะมีการแถลงแนวทางธุรกิจของบริษัทในวันที่ 29 ก.พ. นี้
ก่อนหน้านี้ ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว สถานีสปริงนิวส์ได้ลดอัตราพนักงานลงไปเกือบ 100 อัตรา โดยให้เหตุผลว่า ทางสถานีมีการปรับโครงสร้างขององค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย และมีเป้าหมายในการเป็นสถานีข่าวอันดับ 1 ของประเทศในทุกแพลทฟอร์ม ในปี 2559 ซึ่งนอกจากปรับลดพนักงานลงแล้วยังวางนโยบายพัฒนาเนื้อหาข่าวด้านเศรษฐกิจและต่างประเทศ รวมถึงมีการเปิดคลื่นสถานีข่าว “FM98.5 สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ” ด้วย
สำหรับผลกระทบในด้านธุรกิจนั้น บางช่องดิจิทัลได้เลือกวิธีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก กสทช. ในฐานที่ไม่ส่งเสริมสนับสนุน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้หรือมั่นใจในการเปลี่ยนมารับชมทีวีดิจิตอล ทั้งละเลยต่อหน้าที่ในการออกกฎเกณฑ์ประกาศ เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันทางการค้าในการประกอบการทีวีดิจิตอล โดย GMM ONE, GMM channel, THAIRATH TV และ Bright TV ได้รวมตัวกันฟ้องร้องต่อศาลปกครองโดยเรียกค่าเสียหายกว่า 9,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และศาลปกครองได้เรียกคู่กรณีทั้งหมดไต่สวนเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มผู้ฟ้องได้เรียกร้องให้ กสทช. เยียวยา 5 ประเด็นหลักคือ 1.กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต(รายปี) และการกำหนดเงินเรียกเก็บเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.) 2.สนับสนุนค่าใช้จ่ายส่งสัญญาณดาวเทียม ตามกฎมัสแครี่ (บังคับให้ออกอากาศในทุกช่องทาง) 3.สนับสนุนการจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัล 4.เลื่อนจ่ายค่าธรรมเนียมงวด3 (พ.ค.2559) และ 5.ออกประกาศจัดลำดับช่องทีวี
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลปกครอง และฝ่ายโจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเติมเรียกค่าเสียหายเป็นวันละ 21 ล้านบาท โดยระบุว่ากสทช. ได้แก้ปัญหาไปเพียง 1 ข้อ จาก ทั้งหมด 5 ข้อ คือ การออกประกาศจัดลำดับช่องทีวีเท่านั้น

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์