จวกยับเรื่องเล่าเช้านี้ไร้จริยธรรม แอบอ้างแหล่งข่าวมั่วข้อมูลเมฆสีรุ้ง

จวกยับเรื่องเล่าเช้านี้ไร้จริยธรรม แอบอ้างแหล่งข่าวมั่วข้อมูลเมฆสีรุ้ง

 11 มิ.ย. 58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการ

 ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "บัญชา ธนบุญสมบัติ" ท้วงติงกรณีรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 แอบอ้างชื่อของตนว่าเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปรากฎการณ์ก้อนเมฆสีรุ้ง อีกทั้งยังเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาด ออกอากาศเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา ระบุข้อความว่า
 
"แจ้งข่าว : ทีมงาน เรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 ทำผิด อย่างน้อย 2 เรื่อง

1) นำเสนอข่าวในลักษณะคล้ายกับผมให้สัมภาษณ์ โดยที่ข้อเท็จจริงคือ ไม่เคยโทรมาคุย
2) นำเสนอข่าวบอกว่า ผมเรียกเมฆสีรุ้ง ว่า เรนโบว์คลาวด์ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ผมบอกเพื่อนสมาชิกในชมรมคนรักมวลเมฆ เป็นระยะว่าคำๆ นี้เป็น คำที่ผิด คำที่ถูกต้องคือ iridescent cloud หรือหากเป็นปรากฏการณ์ ก็เรียก iridescence หรือ irisation"
 
ต่อมา ดร.บัญชา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กอีกครั้งระบุว่า ได้รับการติดต่อจากทีมงานเรื่องเล่าเช้านี้โทรศัพท์มาขอโทษเกี่ยวกับการนำเสนอประเด็นดังกล่าว ระบุข้อความว่า
 
"แจ้งข่าว : เมื่อเวลา 14:20 น. คุณปอ ทีมงานของราบการ "เรื่องเล่าเช้านี้" ได้โทรมาขอโทษเรื่องที่นำเสนอเรือง "เมฆสีรุ้ง" ผิดพลาด ผมบอกไปว่า ขอให้ทีมงานแก้ไขให้ถูกต้อง เท่าที่ทำได้ ไม่ได้ติดใจอะไรไปมากกว่านั้น

แต่ในส่วนของผม จะให้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง (โปรดรอสักครู่...ตอนนี้กำลังจัดการกับอาการปวดหลังตัวเองอยู่...)"

 วันเดียวกัน นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก "จริยธรรมสื่อวิทยุและโทรทัศน์" ถึงกรณีดังกล่าวตอนหนึ่งว่า
 
"ข้อมูลที่ได้จากการรายงานข่าว สรุปได้ว่ามาจาก ๓ แหล่งใหญ่ คือ ๑) จากการค้นคว้า ซึ่งต้องอ้างอิงแหล่งที่มา ๒) จากการสังเกตโดยตัวนักข่าวเอง ซึ่งต้องระบุให้ชัดเจนว่าจากการพบเห็นของนักข่าว และ ๓) จากการสัมภาษณ์แหล่งข่าว ซึ่งต้องระบุชื่อ-สกุล-ตำแหน่งงานของแหล่งข่าว อันจะทำให้ข่าวมีความน่าเชื่อถือ ยิ่งแหล่งข่าวเป็นนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ การแสดงความเห็นก็จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
 
การแอบอ้างคำพูดของแหล่งข่าว ทั้งที่ข้อเท็จจริง ไม่ได้มีการสัมภาษณ์เกิดขึ้น ถือเป็นประเด็นขัดแย้งทางจริยธรรมวิชาชีพ อย่างไรก็ตาม การขอโทษ นอกจากเป็นการแสดงความรับผิดชอบอันพึงกระทำแล้ว ยังอาจบรรเทาความเข้าใจในประเด็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเจตนา เช่น การนำมาจากความเห็นของแหล่งข่าวที่กล่าวไว้ในโอกาสใด หรือเขียนไว้ในที่ใด แต่ด้วยเหตุแห่งเวลาที่เร่งรีบ ทำให้รายงานไม่ชัดเจน เช่น จากที่แหล่งข่าวกล่าวไว้ในสื่อออนไลน์เมื่อ xx จึงกลายเป็นแหล่งข่าวให้สัมภาษณ์ว่า เป็นต้น
 
จึงขอให้เพื่อนร่วมวิชาชีพโปรดพิจารณา โดยขอให้เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษา"

จวกยับเรื่องเล่าเช้านี้ไร้จริยธรรม แอบอ้างแหล่งข่าวมั่วข้อมูลเมฆสีรุ้ง


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์