งูจงอางยักษ์เลื้อยโผล่ชุมชน หิวโซหนีแล้งลงจากภูเขา

งูจงอางยักษ์เลื้อยโผล่ชุมชน หิวโซหนีแล้งลงจากภูเขา


งูจงอางยักษ์เลื้อยโผล่ชุมชน หิวโซหนีแล้งลงจากภูเขา

 เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ผู้สื่อข่าว ข่าวสด รายงานว่า นายโกมล ใจสว่าง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ซึ่งดูแลรับผิดชอบพื้นที่ป่าไม้ใน 4 จังหวัดตอนกลางของภาคใต้ ได้แก่ ตรัง พัทลุง สตูล และสงขลา กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิกุศลสถานอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง สามารถจับงูจงอางยักษ์ ขนาดยาว 5 เมตร และหนัก 10 กิโลกรัม ในบริเวณใกล้ๆ กับโรงเรียนบ้านลำแพะ ตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด ว่า เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยจะพบเจอมากนัก และส่วนใหญ่งูจงอางก็จะมีขนาดเล็กกว่านี้ คือ ยาวประมาณ 3-4 เมตร และหนักประมาณ 6-8 กิโลกรัม นอกจากบางตัวที่อาศัยหลบซ่อนตัวมานาน จนมีขนาดโตเท่ากับต้นหมาก แต่ก็ไม่ได้แสดงอาการดุร้ายไล่ทำร้ายผู้คนเหมือนอย่างที่เห็นในหนัง  เนื่องจากสัตว์ป่าโดยปกติก็จะหลบหนีมนุษย์ไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว นอกเสียจากพบกันในลักษณะจังๆ เท่านั้น ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก เพียงแต่ผู้คนส่วนใหญ่จะมองภาพของงูจงอางในลักษณะที่น่ากลัว เนื่องจากได้รับการขนานนามว่า เป็นงูพิษที่มีขนาดยาวที่สุดในโลก

ดังนั้น หากประชาชนในพื้นที่ใดก็ตามพบเห็นงูจงอาง อย่าพยายามเข้าไปทำร้ายหรือทุบตีให้ตาย เพราะอาจได้รับอันตราย หากไม่มีความรู้ความชำนาญมากพอ หรืออาจเข้าข่ายความผิดตามกฏหมายด้วย

เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 แต่ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการจับเพื่อนำคืนกลับสู่ป่า โดยส่วนใหญ่งูจงอางที่ถูกตีตายนั้น เป็นเพราะบุกเข้าไปในบ้าน จนทำให้ผู้คนเกิดความหวาดกลัว ซึ่งกรณีนี้เจ้าหน้าที่จะอนุโลมให้ ยกเว้นเป็นการล่าเพื่อนำไปขาย สะสม หรือส่งต่อ หากพบเห็นก็จะต้องถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฏหมาย แต่ในภาคใต้มีกรณีดังกล่าวน้อยมาก เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่จะไม่นิยมนำเนื้อไปบริโภคกัน จึงมีส่วนทำให้งูจงอางสามารถขยายพันธุ์อยู่ได้ตามธรรมชาติโดยทั่วไป จนบางตัวมีขนาดยักษ์อย่างที่เป็นข่าวโด่งดังกันทั่วประเทศล่าสุด

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าพื้นที่ภาคใต้ในปัจจุบันนี้ จะสามารถพบเห็นงูจงอางได้มากกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากลักษณะของภูมิประเทศที่มีสภาพดิบชื้น ทำให้งูชอบอาศัยอยู่  นอกจากบางพื้นที่ในภาคกลางที่มีสัตว์เล็กสัตว์น้อยอาศัยอยู่ชุกชุม และมีอากาศชื้นสูง เช่น อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หรืออุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ทั้งนี้ ผลจากการที่สภาพป่าตามธรรมชาติในพื้นที่ภาคใต้ถูกบุกรุก และมีการเข้าไปล่าสัตว์เล็กสัตว์น้อยมาบริโภคกันมากขึ้น ทำให้งูจงอางเกิดสภาพที่อดอยาก จึงเลื้อยลงมาจากบนภูเขาเพื่อหาอาหาร และเมื่อมาเจอกับไก่ เป็ด หมู หรือวัว ที่ชาวบ้านเลี้ยงกันเอาไว้ มันจึงได้กัดกินเพื่อความอยู่รอด และหลังจากนั้นเมื่อเห็นว่าอาหารด้านล่างหาง่ายกว่า ก็ไม่เลื้อยกลับขึ้นไปบนภูเขาอีก  อีกส่วนหนึ่งยังเกิดมาจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งอย่างหนักในช่วงหน้าร้อนของปีนี้ จึงทำให้งูจงอางต้องยอมเลื้อยลงมาหาน้ำกิน และถูกจับได้ในที่สุด


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์