ค่านิยมปริญญาฉุนเด็กอาชีวะลดวูบสะเทือนชาติ

ศ.ดร.พจน์ สะเพียรชัย ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า


เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะทำงานจัดทำร่างแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 ได้รายงานให้กกอ.ทราบผลของการประมวลความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การจัดสัมมนา การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิศึกษา ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต การวิจัย และการดูงานต่างประเทศ ซึ่งเท่าที่ฟังประเด็นหลัก ๆ ที่คณะทำงานเสนอจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจำนวนประชากรในอนาคตที่จะมีอัตราการเกิดลดลง จำนวนผู้สูงอายุจะมีมากขึ้น ขณะที่วัยแรงงานจะมากขึ้นเช่นกัน และคนจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมากขึ้น ส่วนความสามารถในการอ่านของเด็กที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพื้นฐานการเรียนกลับมีแนวโน้มอ่อนแอ อีกทั้งยังมีข้อมูลระบุว่าเด็กจบการศึกษาขั้นพื้นฐานมีคะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ 29 คะแนน วิทยาศาสตร์ 34 คะแนน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าตัวป้อนเข้ามหาวิทยาลัยในอนาคตจะต้องปรับปรุงและพัฒนาอีกมาก

ประธาน กกอ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าผู้เข้าเรียนอาชีวศึกษามีแนวโน้มลดลงอย่างรุนแรง


ดูได้จากอัตราเข้าเรียนอาชีวศึกษาในปี 2548 มีเพียง 16.75% และในปี 2568 คาดว่าจะเหลือเพียง 7-8% เท่านั้น ทั้งที่ผลผลิตจากอาชีวะจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แสดงว่าค่านิยมอยากจะได้ปริญญามีมากขึ้น ส่วนคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ ที่มีหน้าที่ผลิตครูออกมาสอนการศึกษาขั้นพื้นฐานกลับพบว่าครูที่ผลิตออกมามีความอ่อนแอทางวิชาการ ส่งผลให้เด็กนักเรียนรุ่นใหม่ยิ่งมีความอ่อนแอวิชาการด้วย
 
ศ.ดร.พจน์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลของคณะทำงานฯจะนำมาเป็นตัวกำหนดกรอบการจัดทำแผนอุดมศึกษาระยะยาวว่าจะจัดอย่างไร

เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ พึ่งพาตนเองได้และสามารถแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะในส่วนอุดมศึกษามีข้อเสนอที่น่าสนใจ คือควรจะมีการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยเป็น 4 กลุ่มคือ 1. วิทยาลัยชุมชนที่ผลิตบัณฑิตเพื่อรับใช้ท้องถิ่น หมู่บ้านในระดับจังหวัด 2.มหาวิทยาลัยศิลปศาสตร์ สอนปริญญาตรี เพื่อผลิตคนรับใช้ในภูมิภาค ต่าง ๆ 3. มหาวิทยาลัยเฉพาะทางหรือมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ ที่เน้นทักษะอาชีพชั้นสูงให้ผู้เรียนออกไปรับใช้ชุมชนในเมืองใหญ่ ๆ และ 4. มหาวิทยาลัยวิจัย เน้นปริญญาโทและเอก แข่งขันในต่างประเทศหรือเวทีโลก เน้นการวิจัย การสร้างความรู้ การผลิตสิ่งใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
 
“กกอ.เห็นว่าแผนดังกล่าวมีความสมบูรณ์มาก และยังเห็นว่าเมื่อมีการทำแผนอุดมศึกษาระยะยาวแล้วหน่วยงานการศึกษาอื่น ๆ ทั้ง สพฐ. และ อาชีวศึกษาน่าจะต้องมีการวางแผนระยะยาวที่สอดรับกับของอุดมศึกษา หรือจะเรียกว่าแผนสามเส้าที่เป็นแผนการศึกษาของชาติก็ได้ โดยให้สภาการศึกษาช่วยประสานงาน เพราะถ้าไม่มีการทำแผนที่สอดรับกัน การศึกษาของไทยก็จะวนเวียนในวงจรอุบาทว์อย่างที่เป็นอยู่ ทั้งนี้คาดว่าอีก 2 เดือนน่าจะแล้วเสร็จจากนั้นจะนำเสนอ กกอ. พิจารณาและเสนอรมว.ศึกษาธิการเพื่อเสนอ ครม.ต่อไป” ประธาน กกอ. กล่าว.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์