คาด1 ปีสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงชัดเจน

คาด1 ปีสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงชัดเจน

เมื่อวันที่ 6 ม.ค.  ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

จัดประชุมหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าภูกระดึง จ.เลย  มีนายเริงชัย ประยูรเวช รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นประธาน โดยมีตัวแทนจาก ร้านค้า ลูกหาบ นักวิชาการ และนักอนุรักษ์เข้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 30 คน ซึ่งถือเป็นการประชุมนัดแรกหลังจากนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)  ส.ส.เลย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเส้นทางสร้างกระเช้าภูกระดึงเมื่อวันที่ 28-29  ธ.ค.54 ที่ผ่านมา
 

นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการส่วนศึกษาวิจัยอุทยานแห่งชาติ  กรมอุทยานฯ 

ยอมรับว่าข้อมูลที่เคยศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างกระเช้าภูกระดึงในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา ต้องมีการทบทวนกันใหม่ทั้งหมด ทั้งเรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์ต่อการท่องเที่ยว รวมทั้งเรื่องเทคนิคในการก่อสร้างเพื่อลดกระทบ ความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งการจัดการท่องเที่ยวบนภูกระดึงเมื่อมีกระเช้าขึ้นไปถึง  เพราะเชื่อว่านักท่องเที่ยวคงไม่ได้แค่ขึ้นกระเช้าแล้วกลับ แต่คงต้องเดินไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่ยอมรับว่าเรายังไม่ได้เตรียมการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับไว้แต่ละจุด รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่ต้องเพิ่มเติม เช่น ถนน ที่พัก เป็นต้น โดยเรื่องดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องระบุให้ชัดเจนในการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีเพื่อให้ครบทุกฤดูกาล
 

“ ผลดีของกระเช้าจะช่วยให้คนแก่ เด็ก คนพิการ มีโอกาสได้ขึ้นไปบนภูกระดึง แต่ถ้าไม่มีการจำกัด ก็เป็นผลเสียให้ระบบนิเวศน์ของบอดภูเปลี่ยนไปจนถึงขั้นสูญเสียได้ เช่นกันจากการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับกับการขึ้นไปทุกฤดูกาลจากเดิมที่จะหยุด 8 เดือนช่วง ต.ค.-พ.ค.ของทุกปี ดังนั้นต้องศึกษาผลกระทบนิเวศบนยอดภู ทั้งปริมาณการท่องเที่ยวในทุกฤดูกาล รวมทั้งศึกษาวิธีการที่จะนำนักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถเดินเท้าไปยังแต่ละจุดที่กระเช้าลงจอดได้ ที่สำคัญกระเช้าต้องกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด” นายทรงธรรม กล่าว
 

นายไพศาล นากดี ประธานชมรมลูกหาบบ้านทานตะวัน อ.ภูกระดึง จ.เลย กล่าวว่า
 
ถ้ามีกระเช้าขึ้นภูกระดึงจะทำให้อาชีพลูกหาบหมดไปจากภูกระดึง อย่างแน่นอน เพราะนักท่องเที่ยวสามารถใช้เวลาเดินทางแค่ 5 นาทีขึ้นไปบนภู  แต่ ถ้าใช้บริการลูกหาบต้องใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงโดยเสียค่าแบกกิโลละ15 บาทเท่านั้น โดยลูกหาบจะมีรายได้เฉลี่ย 500-100 บาทต่อวัน ทำให้ชาวลูกหาบกว่า 300 คนไม่มั่นใจว่ากรมอุทยานฯจะแก้ปัญหากับลูกหาบอย่างไร เพราะถ้าจะให้ไปทำอาชีพมัคคเทศก์ก็คงไม่ได้ เราไม่มีความรู้ และนักท่องเที่ยวสมัยนี้มีแค่แผนที่เดียวก็ไปได้ทุกจุดแล้วไม่ต้องอาศัยลูกหาบ ทั้งนี้จึงอยากเสนอค่าชดเชยรายได้จากการหมดอาชีพลูกหาบ โดยให้จ่ายเงินรายได้ให้กับพวกเราคาดว่าเฉลี่ยรายละ 1 แสนบาท เพื่อให้เป็นเงินทุนสำหรับไปทำอาชีพอย่างอื่น ถ้าไม่สามารถเป็นลูกหาบต่อไป

นายนพรัตน์ นาคสถิตย์  กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า  โดยสภาพการท่องเที่ยวบนภูกระดึงเป็นการท่องเที่ยวแบบผจญภัย 

ไม่ใช่การท่องเที่ยวแบบสะดวกสบาย การใช้เวลาในการเดินทางเป็นวันนั้น คนที่เดินทางไปได้คือคนที่มีสภาพร่างกายและจิตใจพร้อมสำหรับการเรียนรู้ธรรมชาติบนยอดภู ทั้งนี้ในวัตถุประสงค์ของกรมอุทยานฯ คือการทำให้คนเข้าใจในธรรมชาติมากขึ้น อุทยานฯ แต่ละแห่งจึงมีการสื่อความหมายในเรื่องต่างๆ แต่พอใส่กระเช้าไฟฟ้าเข้าไปก็จะกลายเป็นการท่องเที่ยวแบบฟาสต์ฟูด นอกจากนั้นประเด็นสำคัญคืออุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งในต่างประเทศเกิดขึ้นทุกปีทำให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างที่เกาะเซนโตซา สิงคโปร์ นักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากอุบัติเหตุกระเช้าขาด 10 ศพแล้ว ดังนั้นกระเช้าลอยฟ้าจึงมีความตายแถมมาให้ด้วย


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์