คาด ปี 54 ราคาผลไม้สูงขึ้น

ภาวะโลกร้อน กำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก
 
ล่าสุดภาวะโลกร้อนทำให้เกิดปรากฏการณ์ ลานินญ่าซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีลักษณะตรงข้ามกับเอลนินโญ่ คือมีลักษณะคล้ายคลึงกับสภาวะปกติ แต่ทว่ารุนแรงกว่า  กล่าวคือ กระแสลมสินค้าตะวันออกมีกำลังแรง ทำให้ระดับน้ำทะเลบริเวณทางซีกตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกสูงกว่าสภาวะปกติ ลมสินค้ายกตัวเหนือประเทศอินโดนีเซีย ทำให้เกิดฝนตกอย่างหนัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตผลไม้ของไทยในปี 2554
   
นางนารีณัฐ  รุณภัย รองเลขาธิการและ โฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยว่า
 
คณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคต่าง ๆ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะทำงานจัดทำข้อมูล ไม้ผลเศรษฐกิจของ สศก.ได้ติดตามสถานการณ์ผลผลิตผลไม้ของประเทศไทย ปี 2554 ซึ่งพบว่าราคาผลไม้มีแนวโน้มจะสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานินญ่า ซึ่งมีฝนตกมากกว่าปกติทำให้แตกใบอ่อนแทน สำหรับ เงาะ มังคุด ทุเรียน ลองกอง พบว่าปริมาณผลผลิตภาพรวมทั้งประเทศคาดว่าลดลงโดยเฉพาะภาคใต้       
        
ส่วน ภาคเหนืออากาศหนาวเป็นช่วง ๆ ทำให้ผลผลิต ลำไยเพิ่มขึ้น โดยผลสำรวจทางภาคเหนือ

พบว่า ฝนตกหลงฤดูในช่วงปลายปี 2553 ทำให้ลิ้นจี่ที่กำลังจะแทงช่อดอกกลายเป็นแตกใบอ่อนแทนการแทงช่อดอกรุ่นใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย และจากสภาพเช่นนี้ ทำให้ลิ้นจี่ต้นเดียวกันมีผลผลิตหลายรุ่น ผลดี ก็คือทำให้เกษตรกรสามารถทยอยเก็บผลผลิตขายได้ ส่วน ลำไย สภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยอากาศหนาวเป็นช่วง ๆ ทำให้ลำไยที่เกษตรกรราดสารรุ่นหลัง คือ ช่วงปลายธันวาคม ต่อถึงมกราคม 2554 แทงช่อดอกมาก อีกทั้งปีที่แล้วขายได้ราคาดีเกษตรกรจึงกล้าลงทุน และดูแลเอาใจใส่ดี ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลำไย ในแหล่งผลิตใหญ่ 8 จังหวัดภาคเหนือ 469,082 ตัน เพิ่มจากปีที่แล้วร้อยละ 23 ส่วน ปริมาณผลผลิตลิ้นจี่ใน 4 จังหวัดที่สำคัญในภาคเหนือ 32,049 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 17
   
ด้าน ทุเรียน มังคุด เงาะ และ ลองกอง ในภาคตะวันออก พบว่าผลผลิตทุเรียนและลองกองเพิ่มขึ้น ช่วงเดือนมีนาคม


สภาพภูมิอากาศดีมีฝนตกบางช่วง ความชื้นในอากาศสูง การแทงช่อดอกมีมากและมีหลายรุ่นอัตราการติดผลก็มีมาก ทำให้ผลไม้ทุกชนิดเพิ่มขึ้น ยกเว้นมังคุด แต่ด้วยสภาพอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวนฝนตกหนักลมกระโชกแรงในช่วงกลางเดือนมีนาคม ทำให้ต้นทุเรียนได้รับความเสียหาย โดยการประมาณการครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พบว่า ผลผลิตโดยรวมประมาณ 758,857 ตัน สูงกว่าปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 เป็น ทุเรียน 344,089 ตัน, มังคุด 111,122 ตัน, เงาะ 237,592 ตันและลองกอง 66,054 ตัน
   
สำหรับภาคใต้ หลังจากปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติผลผลิตผลไม้ภาคใต้กลับลดลงอย่างน่าใจหายเหลือเพียง 306,352 ตัน ลดลงถึงร้อยละ 44 และต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี
   
“สำหรับสาเหตุที่ลดลงนอกจากภัยพิบัติแล้ว ยังได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานินญ่าซึ่งมีฝนตกมากกว่าปกติ ทำให้ผลไม้แตกใบอ่อนแทนการแทงช่อดอกและนอกจากนี้การเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น การขาดแคลนปัจจัยการผลิตเช่นเงินทุนและแรงงานเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการผลิตผลไม้ภาคใต้ทั้งสิ้น ดังนั้นคาดว่าในปีนี้เกษตรกรชาวสวนจะขายผลไม้ได้ราคาดีถึงแม้ปีที่แล้วราคาผลไม้อยู่ในเกณฑ์ดีแต่ปีนี้ปริมาณผลผลิตผลไม้เกือบทุกชนิดลดลง โดยเฉพาะภาคใต้ทำให้ราคาผลไม้มีแนวโน้มจะสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วแน่นอน” รองเลขาธิการและโฆษก สศก.กล่าวในที่สุด   
   
อย่างไรก็ตามแม้ว่าในปีนี้เกษตรกรชาวสวนจะขายผลไม้ได้ราคาดีเนื่องจากปริมาณผลผลิตผลไม้ของชาวสวนลดจากภาวะลานินญ่า
 
แต่เกษตรกรชาวสวนก็ไม่ควรประมาท เนื่องจากภัยธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่สามารถเตรียมการรับมือได้ โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก หรือแล้งซ้ำซากที่มีการประกาศเตือนไว้แล้วนั้น ควรจะต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสภาพอากาศมากขึ้น เช่น อาจจะเลื่อนการเพาะปลูกให้เร็วขึ้นหรือเลื่อนออกไปจากช่วงเวลาที่เสี่ยง และควรติดตามการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์