คลังชงแผนกู้เงินนอกวันนี้ สำรองฉุกเฉิน 7 หมื่นล.

นายกรัฐมนตรี ยอมรับเตรียมกู้เงินต่างประเทศเพื่อใช้เป็นแผนสำรองฉุกเฉิน รับมือเศรษฐกิจโลกวิกฤติกว่าที่คาด เตรียมชงกรอบกู้เงิน ครม.วันนี้ ขณะที่คลังยันยังไม่ถังแตก มีเงินจ่ายข้าราชการแน่นอน เตรียมดึงธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยรับภาระดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูฯที่กระทรวงการคลังต้องแบกภาระจ่ายให้ทุกปี 70,000 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า

การเสวนาเรื่อง “เจาะลึก 8 คำถามอุตสาหกรรมเด่นกับนายกรัฐมนตรี” ซึ่งจัดโดยบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนและสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมสำรองวงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยได้เตรียมเจรจาหาเงินกู้จากองค์กรต่างประเทศ ทั้งธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ธนาคารโลกองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) เพื่อมาสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษบกิจ หากเกิดกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกลงลึกกว่าที่คาด เพื่อให้มีแหล่งเงินแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มเติม
โดยเตรียมวงเงินเบื้องต้น 60,000-70,000 ล้านบาท และจะเสนอกรอบกู้เงินต่อ ครม.วันที่ 3 ก.พ. 

นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า

การหาแหล่งเงินกู้เพิ่มเติม ไม่ใช่เพราะมีปัญหาเรื่องทุนสำรอง แต่ทุนสำรองยังมีความแข็งแกร่ง ส่วนแผนสำรองเงินกู้เพื่อรองรับเหตุการณในอนาคต เพราะมาตรการที่ออกมาช่วยกระตุ้นเยียวยาเศรษฐกิจได้ถึงไตรมาส 3 ส่วนต้นไตรมาส 4 ต้องมาประเมินอีกครั้งว่าจะออกมาตรการก๊อก 2 หรือไม่อย่างไร “การหาแหล่งเงินกู้เพิ่มไม่ใช่เพราะมีปัญหาทุนสำรอง แต่การมีแผนสำรองเงินกู้เพื่อรองรับเหตุการณ์ในอนาคต เพื่อให้มีช่องทางแหล่งเงินอื่นๆ มาใช้แก้ไขปัญหา เพราะรัฐบาลจะประมาทไม่ได้ หากเกิดความจำเป็นจะได้สามารถนำมาใช้ได้ทันที”
 

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวว่า
 
รัฐบาลจะพยายามทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเป็นบวก แต่ยืนยันไม่ได้ ว่าจะฟื้นตัวเป็นบวกได้เท่าไร โดยหวังให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมามีผลสำเร็จ แต่สิ่งที่ควบคุมไม่ได้คือเศรษฐกิจต่างประเทศ เพราะหากไทยส่งออกไม่ได้และไม่มีคนเข้ามาท่องเที่ยวในไทย เศรษฐกิจเราจะลำบาก ดังนั้น ตอนนี้ต้องภาวนาให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่างประเทศได้ผล 


 นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ ธปท.เข้ามามีบทบาทช่วยดูแลเศรษฐกิจโดยรวม เพราะขณะนี้คลังมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินปีละกว่า 70,000 ล้านบาท ทำให้มีข้อจำกัดในการนำเงินงบประมาณส่วนนี้มากระตุ้นเศรษฐกิจ หาก ธปท.จะช่วยรับภาระส่วนนี้ไปจะได้หรือไม่ เพื่อให้รัฐบาลมีเงินส่วนนี้มาใช้ได้  


ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ฐานะเงินคงคลัง ที่ลดลงเหลือเพียง 52,000 ล้านบาท และอาจไม่เพียงพอต่อการจ่ายเงินเดือน ข้าราชการว่า

การที่รัฐบาลมีนโยบายให้ระดับเงินคงคลังของประเทศอยู่ในระดับไม่สูงมาก จะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารเงินสดและการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยสาเหตุที่รัฐบาลบริหารจัดการเงินคงคลังให้มีระดับไม่สูงมากนัก เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาระการคลังของประเทศ เพราะรัฐบาลใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณ ที่ต้องกู้เงินมาใช้จ่าย ดังนั้น การมีเงินคงคลังมากเกินไปจะไม่สร้างประโยชน์ 


“รัฐบาลมีนโยบายที่จะบริหารจัดการให้เงินคงคลังอยู่ในระดับที่น้อยที่สุด แต่จะต้องไม่สร้างปัญหาให้กับระบบเบิกจ่าย เพราะเงินทุกบาทมีต้นทุนและภาระดอกเบี้ย เนื่องจากกระทรวงการคลังต้องกู้เงินมาใช้ในงบประมาณขาดดุล หากมีเงินคงคลังไว้มากเกิน ก็ไม่ได้สร้างประโยชน์ อย่างไรก็ตามผมมั่นใจในระบบบัญชีการคลังของประเทศว่าจะไม่มีปัญหา และมีการรายงานให้ผมทราบถึงสถานะเงินสดทุกวัน” 


นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า

เงินคงคลังมีอยู่ 52,000 ล้านบาทไม่ได้เป็นตัวเลขที่น่ากลัว หรือน่ากังวลว่า รัฐบาลจะถังแตก เพราะเงินคงคลังมีการขึ้นและลงตามสภาพคล่องที่เกิดขึ้นจากรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลในแต่ละช่วงเวลา ที่ผ่านมากระทรวงการคลังก็ได้บริหาร และดูแลสภาพคล่องของเงินคงคลังให้มีอย่างเพียงพอกับการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยยืนยันว่าข้าราชการจะได้รับเงินเดือนทุกเดือนเหมือนเดิม


ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ธปท. ว่า
 
แม้กฎหมายจะกำหนดภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯไว้ชัดเจนว่าให้คลังจ่ายดอกเบี้ย และ ธปท.จ่ายเงินต้น แต่จริงๆ เปลี่ยนหน้าที่กันได้ โดยการออก พ.ร.ก.ให้ถือเรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนและรัฐบาลลงมือทำงานไปก่อนที่กฎหมายจะผ่านสภาได้ แต่ก่อนแก้ไขกฎหมาย หรือออก พ.ร.ก. ต้องให้รัฐบาลตัดสินใจให้ชัดเจนก่อนว่า เรื่องนี้ต้อง การปรับเปลี่ยนเพื่อวัตถุประสงค์ใด และเปลี่ยนแปลงแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างไร เปลี่ยนแปลงในระยะเวลาเท่าไร จะมีวงเงินเหลือเท่าไร เมื่อรัฐบาลตัดสินใจชัดแล้วก็มาหารือกับ ธปท.ถึงแนวทางการทำงาน และแนวทางหาเงินของ ธปท.ต่อไป 


อย่างไรก็ตาม แม้จะแก้ไขกฎหมายได้ แต่หากไม่มีเม็ดเงินก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น คลังและ ธปท.ต้องพิจารณาร่วมกันว่า หากจะให้ ธปท.รับภาระจ่ายดอกเบี้ยปีละ 60,000-70,000 ล้านบาท จะเอาเงินมาจากส่วนใด.


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์