ครม.เบรกปตท.งาบคาร์ฟูร์

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง

ได้สอบถามในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า บมจ.ปตท. จะเข้าซื้อกิจการของคาร์ฟูร์ซึ่งเป็นห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ ว่าตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายใหญ่ของประเทศได้ห้ามไม่ให้รัฐวิสาหกิจของรัฐแข่งขันกับเอกชน ดังนั้นในกรณีนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยนายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน ได้ชี้แจงว่า บมจ.ปตท. เป็นองค์การมหาชน มีอิสระในการบริหารงาน จึงไม่ได้นำเรื่องนี้เสนอให้ตนเองพิจารณาหรือรับทราบ รวมทั้งยังไม่ได้เสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณา แต่เมื่อปรากฏเป็นข่าวทาง ปตท. จึงได้ทำหนังสือชี้แจงเหตุผลทั้งหมดว่าในต่างประเทศธุรกิจสถานีบริการน้ำมันหลายแห่งจะอยู่ตามชานเมืองและมีห้างสรรพสินค้าประเภทมอลล์ ต่าง ๆ ตั้งอยู่รวมกันมากกว่าการเป็นสถานีบริการน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียว (สแตนด์อะโลน) เพราะการจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียวจะมีต้นทุนที่แพง หากจัดตั้งแบบที่มีห้างสรรพสินค้าร่วมอยู่ด้วยจะมีความ คุ้มค่ามากกว่า โดย ปตท. ได้จัดตั้งทีมขึ้นมาศึกษารายละเอียดและเห็นว่าทำเลของคาร์ฟูร์ในแต่ละแห่งนั้นน่าสนใจกว่าการตั้งสถานีแบบ สแตนด์อะโลน แต่เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้และปรากฏเป็นข่าวมาก ดังนั้น ปตท. จะไม่ดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป
   
ด้านนายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รมว. พลังงาน ได้รายงานให้ ครม.

ทราบว่าการเข้าซื้อกิจการคาร์ฟูร์ของ บมจ.ปตท. นั้น เป็นการตัดสินใจของผู้บริหารบางคนโดยไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ปตท. ขณะที่ฝ่ายการเมืองก็ไม่ทราบรายละเอียด อย่างไรก็ตาม ถือว่าเรื่องนี้เป็นอันยุติแล้ว ขณะที่ รมว. คลัง ระบุว่าเนื่องจาก บมจ.ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับบริษัทเอกชน ซึ่งอาจนำไปสู่การหวังต่อยอดในทางธุรกิจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยผู้บริหารบางคนอาจตีความว่าทำได้ ส่วนนายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่า ขณะนี้ภารกิจที่เกี่ยวกับประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจจะไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศ เนื่องจากโครงสร้าง เศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนไป ดังนั้นรัฐวิสาหกิจเองต้องปรับตัว ทั้งนี้ในการประ ชุมหัวหน้าส่วนราช การระดับปลัดกระ ทรวง เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งให้ทราบว่าได้มีเอกชนแสดงความกังวลว่า ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐจะแข่งขันกับบริษัทเอกชนในทุกกิจการเลยหรือไม่
   
นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบกรอบและงบประมาณของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 54 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

ที่มีวงเงินดำเนินการ 554,994 ล้านบาท วงเงินเบิกจ่ายลงทุน 322,612 ล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 72,096 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 53 ประมาณ 5% โดยสามารถจัดหาเงินสดเพื่อใช้ลงทุนได้ประมาณ 223,391 ล้านบาท ส่วนในอีก 3 ปีข้างหน้า (55-57) คาดว่าจะมีกำไรสุทธิรวม 274,782 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 91,594 ล้านบาท ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนรวมวงเงิน 928,209 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 309,403 ล้านบาท
   
ส่วนผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจจำนวน 53 แห่ง และ บมจ.ปตท. ในปี 53


คาดว่าจะมีรายได้รวม 1.42 ล้านล้านบาท มีรายจ่ายรวมประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท มีกำไรสุทธิรวมประมาณ 68,736 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 7,071 ล้านบาท หรือสูงกว่า 11.5% โดย ครม. ได้สั่งการให้ สศช. เร่งจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนารัฐวิสาหกิจให้ชัดเจนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 รวมทั้งให้กระทรวงเจ้าสังกัดและกรรมการของรัฐวิสาหกิจกำกับดูแลและให้ความสำคัญกับการเบิกจ่ายลงทุนเพื่อให้การลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายไม่น้อยกว่า 90% ของงบลงทุน
   
นอกจากนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัด เร่งทบทวนบทบาทและภารกิจของรัฐวิสาหกิจ

โดยพิจารณาความจำเป็นในการคงสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือปรับปรุงรูปแบบองค์กรหรือควบรวมรัฐวิสาหกิจที่มีการดำเนินกิจกรรมในลักษณะเดียวกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ลดภาระงบประมาณและมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในรัฐวิสาหกิจในกลุ่มต่าง ๆ เช่น รัฐวิสาหกิจที่มีผลกำไรต่ำหรือขาดทุน.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์