ขาดไอโอดีนทำเซ็กซ์เสื่อม-แท้งง่าย

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. น.พ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมประสบการณ์การควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนระดับนานาชาติว่า

ปัจจุบันโรคขาดสารไอโอดีนยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับโรคนี้ โดยคิดว่าการขาดสารไอโอดีนจะทำให้เกิดอาการคอพอกและเกิดขึ้นเฉพาะวัยเด็ก จึงไม่ให้ความสำคัญกับการกินอาหารที่มีสารไอโอดีนมากนัก
แต่ความจริงไอโอดีนมีผลต่อการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกาย สมอง และสติปัญญาของคนในทุกช่วงอายุ

"หากขาดสารไอโอดีนจะมีภาวะผิดปกติแตกต่างกันไป เช่น ช่วงทารกในครรภ์ถึงแรกเกิด จะทำให้เกิดการแท้งหรือตายก่อนกำหนดได้ง่าย หรือหากไม่ตาย คลอดออกมาทารกก็จะพิการแต่กำเนิด คือ หูหนวก ขาแข็ง กระตุก ตาเหล่ รูปร่างแคระแกร็น และสติปัญญาเสื่อมจนถึงปัญญาอ่อน หรือที่เรียกว่าเป็นเอ๋อ ส่วนวัยเด็กถึงวัยรุ่นร่างกายจะเจริญเติบโตช้า สติปัญญาด้อยลงกว่าคนปกติและมีอาการคอพอก ส่วนวัยผู้ใหญ่จะมีอาการคอพอก เหนื่อยง่าย ไม่สดชื่น สมรรถนะในการทำงานลดลง ร่างกายและจิตใจเสื่อมถอย หากเป็นเพศชายจะมีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สำหรับผู้หญิงประจำเดือนอาจมาไม่ปกติ"
น.พ.ณรงค์ศักดิ์กล่าว

น.พ.ณรงค์ศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ตลอดช่วงชีวิตของคนต้องการสารไอโอดีนรวมกันแล้วไม่เกิน 1 ช้อนชา หรือเฉลี่ยแล้วในวันหนึ่งๆ

แม้ว่าร่างกายต้องการสารไอโอดีนเพียงแค่ 150 ไมโครกรัมเท่านั้น แต่ก็ขาดไม่ได้แม้แต่วันเดียว เพราะร่างกายไม่สามารถสะสมไว้ได้ สารไอโอดีนบางส่วนจะถูกนำไปใช้ในการสร้างฮอร์โมนสำหรับการเติบโตของร่างกายและสมอง ส่วนที่เหลือจะถูกขับออกจากร่างกาย จึงจำเป็นต้องกินอาหารที่มีสารไอโอดีนทุกวัน โดยในอดีตผู้ป่วยที่เป็นโรคขาดสารไอโอดีนจะพบมากในเขตพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลทะเล หรือแถบพื้นที่สูงทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ขณะนี้พบว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในภาคกลาง ภาคใต้ หรือแม้แต่พื้นที่ติดชายทะเล รวมทั้งคนกรุงเทพฯ ก็มีสิทธิ์เป็นโรคขาดสารไอโอดีนเช่นกัน หากร่างกายไม่ได้รับสารไอโอดีนที่เพียงพอทุกวัน

น.พ.ณรงค์ศักดิ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนไม่สามารถขจัดให้หมดไปได้

มาตรการควบคุมที่กรมอนามัยได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องขณะนี้คือ การส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนมีการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในการปรุงอาหารไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 เป็นมาตรการหลัก และใช้อาหารเสริมไอโอดีนเป็นมาตรการเสริมอีกทางหนึ่งในการควบคุมและป้องกัน เพราะจากข้อมูลปี 2548 พบว่ามีความครอบคลุมเกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือนเพียงร้อยละ 58.8 และมีเกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือนที่ได้คุณภาพมาตรฐานร้อยละ 54 เท่านั้น

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์