กู้ชีพสรุปบทเรียนเหตุปะทะ


แฉ!บทเรียนการกู้ชีพในช่วงเหตุปะทะ ครวญประสบปัญหาหลากหลาย เปรยหากเกิดอีก วอนทหารช่วยประสาน


เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการสัมมนาเรื่อง "บทเรียนด้านการแพทย์ในสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมืองในพื้นที่ กรุงเทพฯ" โดย นพ.ชาตรี  เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า เหตุการณ์ขอคืนพื้นที่บริวเวณแยกราชประสงค์ตั้งแต่วันที่ 14-19 พ.ค ที่ผ่านมา มีผู้บาดเจ็บ 467 ราย เสียชีวิต 56  ราย โดยมีผู้เสียชีวิตใน กทม. 54 ราย ต่างจังหวัด 2 ราย สำหรับยอดรวมทั่วประเทศตั้งแต่มีการชุมนุมวันที่ 12 มี.ค. จนถึงปัจจุบัน มีผู้บาดเจ็บ 1,885 เสียชีวิต 88 ราย ในจำนวนนี้มีอาสาสมัครกู้ชีพเสียชีวิต 2 รายและอีก 1 รายอาการสาหัส

นพ.ธวัตชัย วงค์คงสวัสดิ์ ผอ.รพ.พระนั่งเกล้า กล่าวว่า เวลามีเหตุรุนแรงจะมีปัญหาเรื่องสั่งการหลายสายงาน เพราะมีผู้บังคับบัญชาหลายคน เนื่องจาก รพ.ตั้งอยู่ในพื้นที่อำนาจผู้ว่าฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นอกจากนี้ยังมีการสั่งการจาก สพฉ.อีก ทำให้เจ้าหน้าที่สับสน และที่เป็นปัญหามากคือ โทรศัพท์มือถือไม่มีสัญญาณ ทำให้การติดต่อสื่อสารลำบากมาก นอกจากนี้ยังพบว่า เครื่องแบบไม่ได้ช่วยให้หน่วยกู้ชีพปลอดภัยได้เลย เพราะช่วงที่ทาง รพ.ส่งหน่วยกู้ชีพเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ แต่เจ้าหน้าที่เองกลับถูกยิงถึง 2 ราย ซึ่งมีข้อสังเกตว่าหน่วยกู้ชีพที่โดนยิงเป็นผู้ที่ใช้รถ จยย. เป็นพาหนะ

นพ.พิชิต ศิริวรรณ รอง ผอ.สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การประสานภาคปฏิบัติกับทางทหาร ที่ผ่านมาพบว่า ไม่มีนายทหารประสานงานโดยตรง ทำให้การทำงานยากมาก กว่าจะไปปฏิบัติงานจุดหนึ่งได้ต้องติดต่อตั้งแต่แม่ทัพไล่ลงมาเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงอยากฝากไว้ว่า หากทางทหารมีการประสานงานมากกว่านี้ คงสามารถช่วยได้มากในการออกปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

ด้านนางนันทนา เมษประสาท กลุ่มงานมาตรฐาน ศูนย์เอราวัณ กล่าวว่า กรณีผู้บาดเจ็บอยู่ในวัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร ทางเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งตั้งแต่ช่วงเย็นแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าไปได้ ส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาคือ รถพยาบาลฉุกเฉินที่จะเข้าไปถูกตั้งข้อสงสัยว่าอยู่ฝ่ายตรงข้าม ในขณะที่ผู้ชุมนุมก็มองว่า เราอยู่อีกฝ่าย ทำให้การทำงานลำบาก ซึ่งควรจะมีการแก้ไขปัญหาตรงนี้ด้วย เพราะกว่าทีมแพทย์จะเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บได้ก็ 4 ทุ่มเศษแล้ว

ส่วน นพ.ต่างแดน พิศาลพงษ์ แพทย์จาก รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ว่า ในเหตุการณ์มีการแจ้งให้ไปรับศพ แต่ปรากฎว่าในศพมีลูกระเบิดอยู่ด้วย โชคดีที่ไม่ระเบิด นอกจากนี้ยังทราบว่า มีการนำคนเจ็บที่ก่อเหตุเผาอาคารไปส่ง รพ. แล้วประสานให้ทางเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวสอบ แต่ก็ไม่ได้รับความชัดเจนในการดำเนินการ จึงอยากฝากถึงผู้เกี่ยวข้องถึงวิธีปฏิบัติด้วย

สำหรับ นพ.ฉัตรบินทร์ จิตนะศิลปิน แพทย์จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กทม. กล่าวว่า มีหน่วยกู้ชีพบางส่วนเข้าไปในม็อบจริง ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าอาสาสมัครหรือหน่วยกู้ชีพบางคนอาจจะชอบสีนั้นสีนี้ แต่เวลาปฏิบัติงานยึดหลักความเป็นกลาง ไม่มีสี อีกทั้งในการปฏิบัติงานของรถพยาบาลฉุกเฉินมีบางแห่งเข้าไปอยู่ในพื้นที่อันตราย ดังนั้นการทำหน้าที่ตรงนี้ควรเป็นมืออาชีพรู้ว่าตรงไหนปลอดภัย ไม่ปลอดภัย ไม่ใช่เอาความบ้าบิ่นมาทำงานหรือบางคนไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานเลยกลับเอามาปฏิบัติงานถือว่าไม่สมควร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมมีการเสนอว่า หากมีเหตุการณ์ความรุนแรงในอนาคต ควรจะมีนายทหารจาก ศอฉ. เข้ามาทำหน้าที่ประสานงานในการเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ โดยอาจจะไปประจำที่ศูนย์เอราวัณหรือจุดใดจุดหนึ่ง เพื่อความสะดวกในการเข้าไปในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้มีการทำบัตรผ่านที่ชัดเจน สำหรับผู้ปฏิบัติงานเพื่อความสะดวกในการผ่านด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ด้วย.



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์