กองทัพยูเอ็นและฝรั่งเศสเริ่มโจมตีทำเนียบรัฐบาลไอวอรีโคสต์


สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เฮลิคอปเตอร์ฝรั่งเศสและสหประชาชาติ ระดมยิงทำเนียบประธานาธิบดีไอวอรีโคสต์และฐานทัพของนายโลรองต์ บักโบ ซึ่งยังไม่ยอมสละตำแหน่งประธานาธิบดี แม้ว่านายอลาสซาน วัตตารา จะได้การรับรองจากนานาชาติว่าชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้วก็ ตาม


เจ้าหน้าที่สหประชาชาติกล่าวว่า เฮลิคอปเตอร์ได้เข้าโจมตีเป้าหมายซึ่งเป็นทำเนียบประธานาธิบดีและค่ายทหาร หลายแห่งในกรุงอบิดจัน ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนักรบของนายอลาสซาน วัตตารา ได้เปิดฉากการโจมตีครั้งใหม่  โดยที่ผู้สื่อข่าวในกรุงอบิดจันรายงานว่า ได้ยินเสียงปืนใหญ่และระเบิดดังสนั่นอย่างต่อเนื่องในใจกลางเมืองหลวง


โฆษกของนายวัตตารากล่าวว่า การเปิดฉากเข้ายึดบ้านพักและทำเนียบประธานาธิบดีจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ ชั่วโมงข้างหน้า และคาดว่าปฏิบัติการทางทหารจะยุติลงภายในคืนนี้  ปฏิบัติการนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยปฏิบัติการสหประชาชาติในไอวอรี โคสต์ (United Nations Operation in Côte d′Ivoire) หรือ ยูเอ็นโอซีไอ และกองกำลังยูนิคอร์นจากฝรั่งเศส เพื่อโจมตีที่มั่นของนายบักโบ


โฆษกของนายวัตตาราอ้างว่า ปฏบัติการครั้งนี้เป็นไปเพื่อปกป้องชีวิตพลเรือนให้พ้นอันตรายจากอาวุธหนัก และทหารหน่วยรบพิเศษของนายบักโบที่ทำร้ายประชาชนและกองกำลังรักษาสันติภาพ ของยูเอ็น


ภารกิจร่วมทางทหารครั้งนี้เป็นไปตามมติสหประชาชาติที่ 1975 ซึ่งมีการลงมติเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่อนุมัติให้คว่ำบาตรนายโลรองต์ บักโบและให้ทหารสหประชาชาติคุ้มครองพลเรือนและป้องกันมิให้ฝ่ายตรงข้ามใช้ อาวุธหนัก ตามคำร้องขอความช่วยเหลือ"อย่างเร่งด่วน"จากนายบัน คี-มุน เลขาธิการยูเอ็น ในจดหมายที่ส่งถึงนายนิโคลาส์ ซาร์โกซี ประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศส


นายบัน คี มูน กล่าวหากองกำลังของนายบักโบว่า "ยกระดับและเพิ่มความรุนแรง" ในการใช้อาวุธหนัก เช่น ปืน ค.  จรวดอาร์พีจี และปืนกลหนักทำร้ายพลเรือน  นอกจากนี้ยังใช้พลแม่นปืนหรือสไนเปอร์โจมตีสำนักงานของทหารรักษาสันติภาพของ ยูเอ็นที่นครอบิดจันอีกด้วย ทำให้ทหารรักษาสันติภาพ 4 นายได้รับบาดเจ็บ


อย่างไรก็ตาม เลขาธิการยูเอ็นย้ำว่า ทหารรักษาสันติภาพของยูเอ็นทั้ง 11,000 นาย ไม่ได้รับคำสั่งให้โค่นอำนาจนายบักโบแต่อย่างใด โดยยืนยันว่า  กองกำลังยูเอ็นโอซีไอไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับรัฐบาลไอวอรี โคสต์ แต่ที่ปรึกษาของนายบักโบที่กรุงปารีส กล่าวว่าการโจมตีดังกล่าว “ผิดกฎหมาย” และมีความพยายามลอบสังหารนายบักโบ


นายเฮอร์แมน แวน รอมพุย ประธานสหภาพยุโรปกล่าวในแถลงการณ์ว่า เขายินดีต่อความพยายามของยูเอ็นในภารกิจการปกป้องชีวิตพลเรือน ตามมติที่ได้รับจากคณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็น


ขณะที่กองทัพฝรั่งเศสกล่าวว่า ปฏิบัติการครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อทำการปลดอาวุธหนักประเภทต่างๆในค่าย ทหาร รวมถึงการติดเครื่องยิงจรวดและปืนใหญ่ให้กับยานพาหนะของกองทัพ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์