กสทช.ชงรัฐตั้งหน่วยคุมอินเทอร์เน็ต ชี้เหตุขอบเขตงานคาบเกี่ยวไอซีที

กสทช.ชงรัฐตั้งหน่วยคุมอินเทอร์เน็ต ชี้เหตุขอบเขตงานคาบเกี่ยวไอซีที


23 ก.ค.58 นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) เปิดเผยใน เวทีระดับชาติว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตของไทย ว่า การกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในเวลานี้ เรื่องของเนื้อหาเป็นหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ที่จะคอยปิดเว็บไซต์ตามที่มีหมายศาลร้องเรียนเรื่องเนื้อหาไม่เหมาะสมมา และดูแลเรื่องมาตรฐานเทคนิคต่างๆ ส่วนเรื่องการกำกับดูแลผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต(ไอเอสพี) เป็นหน้าที่ของ กสทช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของใบอนุญาตและขอความร่วมมือต่างๆ ซึ่งการที่ประเทศไทยที่มีขอบเขตงานที่คาบเกี่ยวกันของ 2 หน่วยงานในแง่การกำกับดูแลจึงอาจทำได้ไม่เต็มที่ ต่างจากในประเทศอื่นๆที่การกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในทั้ง 2 เรื่องมาจากหน่วยงานเดียวกัน จึงทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานมากกว่า

อย่างไรก็ตาม หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบดังกล่าว ในอนาคตอันใกล้อีก ไม่เกิน 10 ปี จะเกิดปัญหาการเข้าเว็บไซต์ที่ล่าช้า เนื่องจากในแต่ละวันมีเวบไซต์ใหม่ๆเกิดขึ้นแทบทุกวัน ในขณะที่เวบไซต์เก่าๆ ที่ปิดตัวลงเอง หรือโดนปิดตัว ก็ยังมีรายชื่อค้างอยู่ในระบบพื้นที่จัดเก็บข้อมูล (เซิฟเวอร์) ต่างๆ จนทำให้เซิฟเวอร์ทำงานหนักในการค้นหาและเชื่อมต่อเว็บไซต์ต่างๆ

ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐที่จะมาทำหน้าที่กำกับดูแลอินเทอร์เน็ตภาพรวมทั้งหมด ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่นั้น เบื้องต้นมีแนวโน้มว่าจะโอนย้ายขอบเขตงานในการดูแลอินเทอร์เน็ตทั้งหมดมาอยู่ที่ กสทช. โดยหากเป็นเช่นนี้จริง ยอมรับว่า กสทช. ในเวลานี้ยังไม่มีความพร้อมเช่นกัน เพราะการกำกับดูแลอินเทอร์จะทำได้ยากกว่า โทรคมนาคม วิทยุ และโทรทัศน์ เนื่องจากอินเทอร์เน็ตมีจำนวนไอเอสพี และผู้เปิดใช้งานเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากต้องดำเนินการจริงคงต้องใช้ระบบการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และสร้างทีมเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าวในการดูแลเนื้อหาจำนวนมาก

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า สำหรับประโยชน์ หากในอนาคตรัฐมีการหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้ามาดูและในเรื่องของการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต ในด้านการกำกับเนื้อหาอาจทำได้ง่ายขึ้นมากกว่าการปิดตามหมายศาล แต่อาจมีการตรวจสอบได้จากรายงานจากประชาชนทั่วไปในเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือเป็นภัยคุกคาม เช่นเดียวกับที่ระบบที่ เฟสบุ๊ค เปิดให้รายงานในปัจจุบัน รวมทั้งยังสามารถใช้กลไกในการกำกับคุณภาพการให้บริการ และราคาค่าใช้บริการให้ถูกลงได้ด้วยเช่นกัน

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ.กล่าวว่า ในการกำกับดูแลการใช้งานอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันรัฐบาลได้มีการหน่วยงานที่มากำกับดูแลอินเทอร์เน็ตและ โดยมี สพธอ.เป็นหน่วยงานหลัก โดยหน้าที่ประกอบด้วย การดูแลความปลอบภัยทางไซเบอร์ เช่นไวรัส หรือภัยคุกคามต่างๆ ดูแลป้องกันการคุมคามข้อมูลส่วนบุคคล การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และมาตรฐานทางเทคนิคต่างๆ

ทั้งนี้การกำกับดูแลอินเตอร์เน็ต หากชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอลผ่าน จะมีคณะอนุกรรมการอภิบาลอินเทอร์เน็ต ที่เป็นกรรมการย่อยของ คณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ( ดีอี) มาดูแลงานในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน

นางสุรางคณา กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าในการประกาศใช้ชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล ขณะนี้ทั้งหมดอยู่ในระหว่างรอนำเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ยกเว้น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ.... หรือ ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ที่ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดจะสามารถผ่านความเห็นขอบของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ สนช.ได้ภายใน 3 เดือน และจะประกาศใช้ภายในปีนี้ ซึ่งสาเหตุที่ล่าช้า มาจากการปรับปรุงกฎหมายตามข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ที่มาจากภาคส่วนต่างๆ

 


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์