กรมสุขภาพจิตเผยคนไทยมีความสุขมากขึ้น

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงผลสำรวจสุขภาพจิตคนไทยในรอบ 3 ปี  (2551-2553) โดยนายวิลาส สุวี รอง ผอ.สำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า ได้ทำการสำรวจสุขภาพจิตคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยใช้คำถามของกรมสุขภาพจิต คะแนนเต็ม 45 คะแนน พบว่า คนไทยมีคะแนนความสุขเพิ่มขึ้นโดยปี 2551 อยู่ที่ 31.9 คะแนน ปี 2552 เพิ่มเป็น 33.1 คะแนน และปี 2553 เพิ่มเป็น 33.3 คะแนน นอกจากนี้สัดส่วนของคนที่เสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน จากปี 2551 มีจำนวนร้อยละ 17.8 แต่ในปี 2553 เหลือร้อยละ 11.2
   
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจ ปี 2553 จังหวัดที่มีความสุขมากที่สุด คือ จ.พังงา
 
รองลงมาคือ ตรัง มหาสารคาม นราธิวาส และตาก ส่วนจังหวัดที่มีความสุขน้อยที่สุดในปี 2553 คือ สมุทรสงคราม รองลงมาคือ สุโขทัย ภูเก็ต สมุทรปราการ และสระแก้ว  พังงาเป็นจังหวัดที่มีความสุขที่สุดของประเทศติดต่อกัน 2 ปี ในขณะที่จังหวัดที่อยู่ในกลุ่มความสุขน้อยที่สุดของประเทศติดต่อกัน 2 ปี คือ สมุทรปราการ ภูเก็ต สระแก้ว และนครนายก ซึ่งคงไม่สามารถสรุปได้ว่าพื้นที่ที่มีความสุขมากหรือน้อยสาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไร แต่กรณี จ.พังงาอาจเป็นไปได้ว่าเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีการกระจายรายได้ในจังหวัดดี ส่วนจังหวัดที่มีความสุขน้อยที่สุด เช่น สมุทรสงคราม อาจมาจากปัญหาแรงงานนอกพื้นที่เข้ามาทำงาน จนทำให้คนในพื้นที่รู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
   
ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า


ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาคนไทยมีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตน้อยลง โดยเพศหญิงเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย หัวหน้าครอบครัวมีความเสี่ยงมากที่สุด คนที่สมรสเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตน้อยกว่าคนที่เป็นม่าย หย่า แยกกันอยู่ ลูกจ้างรัฐและรัฐวิสาหกิจเสี่ยงน้อยที่สุด คนที่มีหนี้นอกระบบเสี่ยงสูงสุด นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบว่า สมรรถภาพของจิตใจของคน กทม. ต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่น ๆ  เพราะปัญหา การเมือง สภาพครอบครัว การจัดการปัญหาต่ำ การกระจายรายได้ไม่ทั่งถึง สังคมแข่งขันกันสูง นอกจากนี้ยังพบว่า การมีระบบการจ้างงานและดูแลปัญหาการว่างงานที่ดี การกระจายรายได้ในสังคมที่มีการแข่งขัน ทำให้คนไทยมีสุขภาพจิตดีขึ้นด้วย ดังนั้นการสร้างเสริมให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงจึงจำเป็นที่รัฐต้องมีนโยบายสร้างระบบเศรษฐกิจที่ดี เอื้อต่อคนไทยทุกคนให้มีงานทำ มีรายได้แน่นอนและเพียงพอกับค่าใช้จ่าย.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์