กรมศิลป์ประเมินราคาทองโบราณพัทลุง22รายการ จ่ายชาวบ้านกว่า1.8ล้าน

กรมศิลป์ประเมินราคาทองโบราณพัทลุง22รายการ จ่ายชาวบ้านกว่า1.8ล้าน

 

วันที่ 3 กรกฎาคม นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า
 
ได้รับรายงานจากนายสหภูมิ ภูมิธฤติรัฐ ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการกำหนดเงินรางวัลสำหรับผู้เก็บได้ซึ่งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน รวมทั้งตรวจพิสูจน์ กำหนดอายุสมัย กำหนดค่าทรัพย์สินและประเมินราคาของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สิ่งเทียมโบราณวัตถุและสิ่งเทียมศิลปวัตถุ 

หลังจากดำเนินการประเมินราคาและคุณค่าของทองคำโบราณที่ชาวบ้านขุดพบในที่ดินของนายวิ ทับแสง ชาวบ้านเขาชัยสน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุงนั้น

มีชาวบ้าน 7 ราย ส่งมอบทองคำโบราณคืนทั้งหมด 22 รายการ เป็นทองคำ 13 รายการ ทองคำก้อน 5 รายการ ทองรูปพรรณ 4 รายการ รวมน้ำหนักทองทั้งหมด 1, 855.51 กรัม หรือประมาณ 115.45 บาท โดยขณะนี้ได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครทั้งหมด 

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตามกฎหมายแล้วผู้ส่งมอบทองคำคืนจะได้รับรางวัล 1 ใน 3 ของค่าทรัพย์สินตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ
 
ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ทั้งนี้การประเมินราคาและคุณค่าทองคำนั้น ได้ใช้หลักเกณฑ์พิจารณาทั้งหมด 5 ข้อ 

1.ความเป็นของแท้ดั้งเดิม เช่น เป็นโบรณวัตถุพบที่แหล่งนั้นๆ ยังคงรูปลักษณ์เดิมเหมือนพบครั้งแรก 

2.มีหลักฐานสำคัญคือจารึกอักษรจีน ที่ปรากฏบนแผ่นทองคำ สามารถบอกเล่าเรื่องราวทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ รวมทั้งความเก่าแก่ของอายุสมัย 

3.คุณค่าทางศิลปะโดยเฉพาะทองรูปพรรณ กำไลหัวนาคและจี้ฉลุลายทำด้วยเทคนิคและฝีมือช่างชั้นสูงมีความวิจิตรประณีต 

4.เป็นโบราณวัตถุประเภททองคำ ซึ่งเป็นวัตถุมีค่าหายาก จึงพิจารณาน้ำหนักและวิเคราะห์หาส่วนประกอบของเนื้อโลหะด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ พบว่ามีส่วนประกอบโดยเฉลี่ยของทองคำ ตั้งแต่ 85-98% และส่วนประกอบของเงินเฉลี่ยตั้งแต่ 2-15%

5.เป็นโบราณวัตถุที่ไม่เคยพบมาก่อนในดินแดนไทยจึงเป็นประโยชน์อย่างมากในการศึกษาค้นคว้าด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ของคาบสมุทรภาคใต้ในอดีต

นายเอนก กล่าวต่อว่า ทองคำที่ส่งคืนทั้ง 22 รายการนั้น กรมศิลปากร
 
ได้ประเมินคุณค่าโดยแต่ละชิ้นได้รับราคาประเมิน 1 ใน 3 แตกต่างกัน คณะกรรมการกำหนดเงินรางวัลฯ ได้ทำการประเมินคุณค่าและราคาของทองคำทั้ง 22 รายการ รวมมูลค่าทั้งหมด 5, 561,550 บาท และเมื่อคิดเป็นราคาประเมินที่จะจ่ายให้กับผู้ส่งคืนทองคำ 1 ใน 3 ของค่าทรัพย์สินคือ 1,854,750 บาท 

หลังจากนี้กรมศิลปากรจะแจ้งให้ผู้ที่ส่งมอบทองคำคือทราบถึงราคาประเมิน จากนั้นก็อนุมัติเงิน 1, 854,750 บาท เพื่อมอบให้กับชาวบ้านทั้ง 7 ราย คาดว่าส่งมอบเงินได้ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ 

ส่วนทองคำที่ยังอยู่ในครอบครองของชาวบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นสมบัติของชาตินั้น
 
สั่งการให้นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ขยายเวลาส่งมอบทองคำโบราณจากเดิมสิ้นสุด 2 กรกฎาคม ขยายจนถึงวันที่ 12 สิงหาคม หากครบตามกำหนดเวลาดังกล่าวก็จะประสานไปยังจังหวัดและตำรวจในพื้นที่ เพื่อบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจของพ.ร.บ.โบราณสถานฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีปรับไม่เกิน 7 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์