กรมวิทย์ฯ เตือน “เห็ดขี้ควาย” อันตรายบริโภคถึงตายได้

กรมวิทย์ฯ เตือน “เห็ดขี้ควาย” อันตรายบริโภคถึงตายได้

กรมวิทย์ฯ เตือนเห็ดขี้ควาย มีพิษ เลี่ยงบริโภค ชี้มีฤทธิ์ไม่ต่างกัญชา กระท่อม มึนเมา เคลิบเคลิ้ม ประสาทหลอน และจัดอยู่ในสารเสพติดประเภทที่ 5 หากบริโภคร่วมแอลกอฮอล์เพิ่มฤทธิ์รุนแรง หากบริโภคมากเสียชีวิตได้ แนะเลี่ยงรับประทานเห็ดแปลกหน้าไม่คุ้นเคย

นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงอันตรายของเห็ดขี้ควาย
 
หลังจากที่มีข่าวนักท่องเที่ยวชาวแคนาดา 2 คนอาจบริโภค จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ว่า ตามปกติของเห็ดขี้ควายนั้น พบได้ตามกองมูลควาย ถือเป็นกลุ่ม 1 ใน 7 ของเห็ดมีพิษที่ห้ามบริโภค โดยเห็ดขี้ควาย  มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า magic mushroom เนื่องจากการบริโภคจะทำให้เกิดอาการมึนเมา คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปากชา มีผลต่อประสาท ทำให้เกิดอาการประสาทหลอน เพ้อฝัน และหมดแรง หากบริโภคในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ พบมีการนิยมบริโภคในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการหาความสำราญจากเห็ด recreation mushroom เช่นอินโดนีเซีย บาหลี อินเดีย สหรัฐอเมริกา

นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า ในเห็ดขี้ควายมีสารพิษ 2 ชนิด psilocybine (ซิโลไซบีน) และ psilocine (ซิโลซีน)

ซึ่งใน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 และในฉบับแก้ไข ปี 2532 ระบุให้เห็ดขี้ควาย จัดเป็นสารเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ไม่ต่างจากพืชกัญชา กระท่อม ที่ออกฤทธิ์ในการมึนเมา หลอนประสาท โดยผู้ที่ผลิตขาย และนำเข้า หรือส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท และหากมีการนำเห็ดขี้ควาย มีปั่นผสมกับเหล้าก็จะทำให้เพิ่มปริมาณของสารพิษมากขึ้น เนื่องจากแอลกอฮอล์จะเป็นตัวทำละลายสารพิษให้ออกฤทธิ์เร็ว และรุนแรงมากขึ้น ส่วนการบริโภคตามปกตินั้น ความร้อนก็ไม่สามารถทำลายสารพิษ จึงทำให้ไม่ค่อยพบผู้นิยมนำมาบริโภค ทั้งนี้ การบริโภคเห็ดที่ปลอดภัยนั้น ไม่ควรบริโภคเห็ดที่มีลักษณะไม่คุ้นเคยมาก่อน เพื่อความปลอดภัย

นพ.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับลักษณะของเห็ดพิษที่ประชาชนทั่วไปควรระวัง หลีกเลี่ยงในการบริโภค  เห็ดที่มีลักษณะสีน้ำตาลเข้ม มีปลอกหุ้มโคน มีวงแหวนใต้หมวก มีปุ่มปม และเกิดในมูลสัตว์.- สำนักข่าวไทย

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์