กรมชลฯ สนองพระราชดำรัส เร่งแก้น้ำเสีย-ปลูกป่า-เก็บน้ำ

กรมชลฯ สนองพระราชดำรัส เร่งแก้น้ำเสีย-ปลูกป่า-เก็บน้ำ

อธิบดีกรมชลประทาน สนองพระราชดำรัส นัดประชุมด่วนพรุ่งนี้ (13 ส.ค.) หารือผู้บริหารและเชิญ รมว.เกษตรฯ สรุปเสนอ ครม.ดำเนินการทันที ทั้งเรื่องจัดการน้ำเสียในแม่น้ำเจ้าพระยา ปลูกป่า และหาวิธีกักเก็บน้ำฝนใช้ได้เอง ไม่ต้องหาซื้อน้ำจากต่างประเทศ

(12สค.) นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงให้คนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ดูแลป่า และทรงห่วงว่าอีก 20 ปีต้องซื้อน้ำจากต่างประเทศ ให้มีมาตรการพิเศษรักษาแม่น้ำเจ้าพระยา ว่า กรมชลประทานสนองพระราชดำรัสทันที โดยวันพรุ่งนี้ (13 ส.ค.) ได้นัดหารือผู้บริหารกรมชลฯ ที่อยู่ในกรุงเทพฯ และได้เรียนเชิญนายธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปสรุปว่าอะไรที่จะทำได้ทันทีบ้าง เช่น ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้เรามีเขื่อนป่าสัก เขื่อนกิ่วคอหมา เริ่มกักเก็บน้ำได้แล้ว จะได้นำไปวางแผนจัดสรรแม่น้ำเจ้าพระยา เจือจางน้ำเสีย ไล่น้ำเค็มมากขึ้น โดยต้องประสานกับจังหวัด กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานอื่นที่ดูแลควบคุมน้ำเสียอยู่ด้วย


นายสามารถ เปิดเผยด้วยว่า ส่วนที่ทรงรับสั่งถึงน้ำที่เกี่ยวกับป่านั้น

 เมื่อกรมชลประทานสร้างเขื่อน จะเสนอมาตรการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือปลูกป่าที่สูญหาย แต่ขณะนี้มีปัญหาเรื่องการตั้งงบประมาณ โดยสำนักงบประมาณบอกว่าตั้งงบฯ ไว้ที่กรมชลประทานไม่ได้ เพราะการปลูกป่าต้องไปตั้งไว้ที่กรมป่าไม้หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แต่ในทางปฏิบัติเมื่อกรมป่าไม้หรือกรมอุทยานฯ ตั้งงบฯ แล้วมักจะไม่ได้รับงบประมาณ เนื่องจากหน่วยงานพิจารณาเห็นว่าไม่สอดคล้องกัน ทำให้กิจกรรมปลูกป่าติดขัด ได้บ้างไม่ได้บ้าง ดังนั้นถ้าตั้งงบประมาณรวมไว้ในรวมในแต่ละโครงการของกรมชลประทาน แล้วจะมอบหมายให้ใครปลูกก็ได้น่าจะเหมาะสมกว่า ก็ได้นำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ส่งเรื่องให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา


วิธีจัดงบฯ ของเมืองไทย ยังไม่ได้ตั้งแบบโครงการรวมไว้ที่ใดที่หนึ่ง

 เมื่อแยกกรมกองมักจะมีปัญหา ก็จะได้หารือรัฐมนตรีว่าการฯ ว่าจะนำมาตั้งที่กรมชลฯ โดยหารือกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ว่าจะให้เราปลูกให้หรือร่วมกับเอกชน มหาวิทยาลัย โรงเรียนเขาก็ตื่นตัวกันมาก ปลูกให้ใกล้แหล่งน้ำมีความชุ่มชื้น ก็จะขึ้นดี เราก็จะได้เสนอ ครม.แล้ว เริ่มดำเนินการได้ทันที”อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยอีกว่า

 ส่วนอีกเรื่องที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รับสั่งมาหลายครั้งแล้วว่า ปัจจุบันชายคาบ้านเรือนโดยเฉพาะบ้านนอก ลืมรางเก็บน้ำฝนลงตุ่ม ซึ่งเรื่องนี้มีหลายหน่วยงานที่จะร่วมคิดและรณรงค์ไปจัดสร้างให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะอาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ตนเคยได้คุยกันแล้วว่าจะร่วมรณรงค์เป็นการออกค่ายของนักศึกษา ซึ่งตนจะถามผู้บริหารและรัฐมนตรีว่าการว่า หากจะทำให้ชาวบ้าน ก็จะขอรับบริจาคเป็นเงินหรือวัสดุไปจัดทำให้ เพราะพระองค์รับสั่งมานานแล้ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ไม่ค่อยเห็นด้วยที่เราเคยเสนอว่าน้ำของลาวและพม่ามีมาก

เราสามารถไปซื้อเขามาใช้ได้ เช่น สาละวิน หรือของลาว ที่ทำเขื่อนเยอะไปหมด แต่พื้นที่ทำเกษตรเขาน้อย เราสามารถซื้อเขาได้ แต่ทั้งสองพระองค์รับสั่งว่า ฝนในประเทศไทยมีไม่น้อย แต่ไม่มีที่เก็บ ทำอย่างไรเก็บให้ได้มากที่สุด ถ้าเรามีที่เก็บพอ ฝนในประเทศเรามีพอ การไปซื้อจากต่างประเทศเหมือนเรื่องของงานนโยบายระหว่างประเทศ ถ้าเรายังดีกันอยู่ก็ดี ถ้าเป็นช่วงสงครามหรือไม่ถูกกันก็จะเป็นปัญหา เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ทรงให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติของแต่ละท้องถิ่นได้เอง ย่อมดีกว่าพึ่งพาที่อื่น” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์