กต.แจงปมพระวิหาร-วอนคนไทยร่วมมือกันเพื่อชาติ

กต.แจงปมพระวิหาร-วอนคนไทยร่วมมือกันเพื่อชาติ


เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มธรรมยาตรากอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทย เสนอให้ทางการไทยใช้อนุสัญญาโตเกียว ปีค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) ในการแก้ไขปมปราสาทพระวิหาร ซึ่งกัมพูชาได้ขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก ตีความคำพิพากษา ปี 2505 ว่า อนุสัญญาโตเกียวถูกจัดทำขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยขณะนั้นไทยมีความขัดแย้งกับประเทศฝรั่งเศส ซึ่งญี่ปุ่นได้เป็นคนกลางเข้ามาไกล่เกลี่ย และรัฐบาลไทยสมัยนั้นได้ประกาศเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่น 

 แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศมหาอำนาจและฝรั่งเศสที่เป็นฝ่ายชนะสงคราม นำไปสู่ "ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส" ซึ่งทำที่กรุงวอชิงตัน เมื่อ 17 พ.ย. 2489 หรือที่รู้จักในชื่อ "ความตกลงวอชิงตัน" ซึ่งมีผลทำให้อนุสัญญาโตเกียวดังกล่าวถูกยกเลิกไป กลับไปสู่สถานะเดิม โดยไทยต้องคืนดินแดน "อินโดจีน" ที่ได้มาทั้งหมดให้แก่ฝรั่งเศส

 นายสีหศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงการแสดงข้อคิดเห็นจากบางกลุ่ม ที่ว่าไทยควรประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก หรือดับเบิ้ลยูเอชซี ว่า เรื่องคณะกรรมการมรดกโลก คือ การขึ้นทะเบียนและดูแลสถานที่ซึ่งเป็นมรดกโลก ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหาร ส่วนข้อกังวลกรณีที่กัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 17-27 มิ.ย.นี้ นั้นไม่มีอะไรที่น่าเป็นกังวล เพราะในชั้นนี้ ไม่มีวาระใดที่เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหาร และการที่จะบรรจุวาระเข้าสู่การประชุม เป็นเรื่องที่ต้องนำเข้าสู่การประชุมเตรียมการ ประกอบด้วยรองประธานทั้งหลายที่เป็นตัวแทนของภูมิภาคต่างๆ ซึ่งไทยมีฐานะเป็นรองประธานที่เป็นตัวแทนของภูมิภาคเอเชีย

 สำหรับกรณีที่กลุ่มคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดิน นำโดย นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือฟ้องร้องกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหนึ่งในรายชื่อผู้ถูกฟ้องร้องจาก ทั้งหมดรวม 6 คน กรณีถูกกล่าวหาว่า "ให้ข้อมูลเท็จเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร" นายสีหศักดิ์ ระบุว่า คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องทางกฎหมาย และตอนนี้ตนไม่ต้องการแสดงข้อคิดเห็น โดยต้องขอศึกษาประเด็นที่ฟ้องร้องอย่างละเอียด

 "ยืนยันว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ เราปฏิบัติโดยสุจริต ทำงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติมาโดยตลอด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติโดยรวม กระทรวงการต่างประเทศจะทำเต็มที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยในการสู้คดี บนพื้นฐานของหลักกฎหมาย และเรื่องนี้ไม่ควรเป็นประเด็นการเมืองภายใน เพราะเป็นสิ่งที่คนไทยทุกกลุ่มควรร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของประเทศ" นายสีหศักดิ์ กล่าว

 ทั้งนี้ อนุสัญญาโตเกียว ปีค.ศ. 1941 เป็นอนุสัญญาสืบเนื่องมาจากกรณีพิพาทอินโดจีนในปี พ.ศ. 2484 ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส โดยประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในเอเชียขณะนั้น ได้เข้ามาไกล่เกลี่ย ภายหลัง "สงครามอินโดจีน" ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสงครามที่ฝ่ายไทยสามารถขยายพื้นที่การครอบครองดินแดนสำเร็จด้วยกำลังทหารในปี พ.ศ.2484 ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเข้าครอบครองแขวงไชยบุรี และแขวงจำปาสักในลาว จังหวัดเสียมเรียบ และจังหวัดพระตะบองในกัมพูชา แต่ไทยต้องคืนดินแดนดังกล่าวให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าอาณานิคม ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้ความตกลงวอชิงตัน

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์